ฮือฮา! นาซา(NASA)ค้นพบระบบสุริยะใหม่ อาจมีสิ่งมีชีวิตเหมือนมนุษย์(มีคลิป)

เปิดก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติ นาซา ค้นพบระบบสุริยะใหม่ แทรพพิสท์-1 (TRAPPIST-1) ประกอบด้วยดาวฤกษ์ 1 ดวง และดาวเคราะห์ 7 ดวง โดยในจำนวนนี้ 3 ดวง มีโซนที่สิ่งมีชีวิตอาศัยได้ ดูคลิป!

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา (NASA) ได้จัดงานแถลงข่าว ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ เปิดเผยรายงานค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) ระบุว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโลก จำนวนทั้งหมด 7 ดวง โคจรรอบดาวฤษ์ 1 ดวง (ลักษณะคล้ายกับระบบสุริยะที่เราอาศัยอยู่ขณะนี้) โดยอยู่ห่างจากโลกออกไป 40 ปีแสง หรือประมาณ 378 ล้านล้านกิโลเมตร ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ
ระบบสุริยะใหม่

ระบบดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า แทรพพิสท์-1 (TRAPPIST-1) ซึ่งมาจากชื่อของกล้องโทรทรรศน์ The Transiting Planets and Planetesimals Small Telescope (TRAPPIST) ในประเทศชิลี โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2559 นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ชื่อของ TRAPPIST ประกาศเรื่องการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 3 ดวง ก่อนจะมีการยืนยัน การมีอยู่แค่ 2 ใน 3 และหลังจากนั้นได้ค้นพบเพิ่มอีก 5 ดวง รวมทั้งหมดเป็น 7 ดวง โดยแต่ละดวงให้ใช้ชื่อไล่ไปตั้งแต่  TRAPPIST-1b, TRAPPIST-1c…, TRAPPIST-1h โดยในจำนวนทั้งหมด 7 ดวงนี้ มี 3 ดวง ที่มีโซนที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต หรือมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัย พอที่จะมีน้ำเป็นของเหลวอยู่ได้

โธมัส เซอร์บูเชน รองผู้บริหารกรมภารกิจวิทยาศาสตร์ ของนาซา ในกรุงวอชิงตันเผยว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่จะทำให้ใกล้ความจริงเกี่ยวกับปริศนาเรื่องการค้นพบสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตอาศัยได้นอกโลกของเรา เริ่มตอบคำถามที่ว่า มีสิ่งมีชีวิตอื่นนอกโลกของเราหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นจำนวนมาก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจำนวนมากที่มีโซนที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต

ทั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังสามารถระบุขนาดของดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 ได้ครบทั้ง 7 ดวงแล้ว รวมทั้งสามารถคำนวณมวลและความหนาแน่นของดาวเคราะห์เหล่านี้ได้ถึง 6 ดวง ซึ่งจากการวิเคราะห์แล้วคาดว่าเป็นดาวเคราะห์ลักษณะเดียวกับโลก
ระบบสุริยะใหม่
สำหรับดาวฤกษ์ในระบบ TRAPPIST-1 นี้ จัดเป็นดาวประเภทดาวแคระเย็นจัด (ultra-cool dwarf) ซึ่งแตกต่างจากดวงอาทิตย์ ด้วยความเย็นจัดนี้ ทำให้น้ำเหลวสามารถคงอยู่บนดาวเคราะห์ได้ แม้ว่าจะอยู่ใกล้มาก ซึ่งดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 ทั้ง 7 ดวง ล้วนอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ดวงนี้มากกว่า ดาวพุธ ที่เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะเสียอีก นอกจากนี้ดาวเคราะห์แต่ละดวงในระบบ TRAPPIST-1 ก็อยู่ใกล้กันมาก เทียบว่า หากยืนอยู่บนดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ก็สามารถมองเห็นดาวเคราะห์เพื่อนบ้านดวงอื่น ได้ด้วยตาเปล่า ลักษณะเดียวกับที่เรามองเห็นดวงจันทร์จากโลก แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์และสามารถมองเห็นไปจนถึงพื้นผิวทางธรณีวิทยา หรือเมฆบนชั้นบรรยากาศของดวงเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้เลยทีเดียว
ระบบสุริยะใหม่
ด้วยระยะห่างที่ดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์มากเช่นนี้ ส่งผลให้อาจเกิดสภาวะ ดาวเคราะห์หันหน้าด้านเดียวไปหาดาวฤกษ์เสมอ นั่นหมายความว่า ด้านหนึ่งของดาวเคราะห์จะเผชิญกับแสงของดาวฤกษ์ตลอดเวลา เป็นกลางวันที่ไม่มีวันมืด ขณะเดียวกันอีกด้านก็จะไม่มีโอกาสได้เผชิญกับแสง เป็นกลางคืนที่มืดมิดตลอดเวลา รวมไปถึงสภาพอากาศอาจจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

โดยหลังจากการค้นพบครังสำคัญนี้ ทางทีมนักวิทยาศาสตร์เตรียมการติดตามผล ในการศึกษาและสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 รวมทั้งประเมินผลของดาวเคราะห์ 3 ดวง ที่มีโซนที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงโอกาสที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนดาวเหล่านี้ต่อไป
ระบบสุริยะใหม่
ภาพสมมุติ : หากเรายืนอยู่บนดาวเคราะห์ TRAPPIST-1f

และเนื่องในวันสำคัญแห่งการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเช่นนี้ ทาง Google ก็ได้เปลี่ยนโลโก้ doodle ฉลองให้กับการค้นพบครั้งนี้ด้วย โดยทำออกมาเป็นภาพแอนิเมชั่นตัวการ์ตูนน่ารัก ๆ เป็นรูปโลกและมีกล้องโทรทรรศน์ ส่องออกไปพบกับระบบสุริยะใหม่ แทรพพิสท์-1 (TRAPPIST-1) ที่ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ 1 ดวงที่เป็นศูนย์กลางของระบบ และดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารอีก 7 ดวง