สะพานเชื่อมเกาะสมุย เสริมเขี้ยวเล็บท่องเที่ยวไทย

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อลือชาอันดับต้นๆ ของประเทศไทย สมุยเปรียบเสมือนอัญมณีอันล้ำค่าที่มีมนต์เสน่ห์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนได้ปีละจำนวนมาก นักท่องเที่ยวในเมืองหนาวหลายประเทศนิยมที่จะหนีหนาวมาพึ่งไออุ่นหรืออาบแดดที่เกาะสมุย ด้วยเหตุนี้ การท่องเที่ยวจึงเป็นกลไกสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสมุย

ปัจจุบันการเดินทางไปสู่เกาะสมุยมี 2 ทาง ประกอบด้วยทางอากาศและทางน้ำ แต่การเดินทางทางอากาศหรือเครื่องบินนั้นมีเสียงสะท้อนจากคนส่วนใหญ่ว่าค่าโดยสารแพงมาก พูดได้ว่าแพงที่สุดสำหรับการเดินทางภายในประเทศ และแพงกว่าการเดินทางไปต่างประเทศหลายประเทศ ส่วนการเดินทางทางน้ำนั้นหลายคนบ่นว่าต้องใช้เวลานาน กล่าวคือ อาจเลือกใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สนามบินสุราษฎร์ธานี แล้วนั่งรถไปลงเรือหรือเฟอร์รี่ที่ท่าเรือดอนสักเพื่อไปเกาะสมุย ซึ่งเสียค่าเดินทางถูกกว่า แต่ต้องใช้เวลานานกว่ามาก

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอแนวคิดที่จะก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย ระหว่างบริเวณด้านใต้ของท่าเรือดอนสักกับเกาะสมุย โดยผมได้สำรวจแนวสะพานเบื้องต้น พบว่า หากก่อสร้างสะพานจากด้านใต้ของแหลมทาบ (หรือแหลมประทับ) ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของท่าเรือดอนสักและเป็นพื้นที่ใน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปที่แหลมหินคมบนเกาะสมุย จะได้แนวสะพานที่เหมาะสมแนวหนึ่ง มีระยะทางยาวประมาณ 18 กิโลเมตร รวมระยะทางบนฝั่งทั้งสองด้วย ทั้งนี้ รูปแบบสะพานควรเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) หากก่อสร้างให้มีจำนวนเลน 4 เลน หรือข้างละ 2 เลน จะใช้เงินลงทุนก่อสร้างประมาณ 45,000 ล้านบาท

นอกจากโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวสู่เกาะสมุยและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว โครงการนี้ยังจะช่วยทำให้การขนส่งสินค้าไปสู่เกาะสมุยดำเนินไปได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งสินค้าถูกลง การเดินทางไปมาระหว่างสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงกับเกาะสมุยสามารถทำได้โดยใช้เวลาไม่นาน หรือภายในวันเดียวได้ไม่ยาก ต่างกับในปัจจุบันที่ต้องใช้เวลานั่งเฟอร์รี่ถึงประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่หากมีสะพานจะใช้เวลาข้ามทะเลแค่เพียงประมาณ 20 นาทีเท่านั้น ที่สำคัญ ไม่ต้องเสียเวลารอลงเฟอร์รี่

บางคนเกรงว่าโครงการนี้จะทำให้ผู้โดยสารเครื่องบินและเฟอร์รี่ลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมมองว่าโครงการนี้จะทำให้มีการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ต่างๆ กับเกาะสมุยเพิ่มมากขึ้น คนที่ไม่เคยไปเกาะสมุยก็จะไปเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางสะดวกขึ้น ซึ่งในที่สุด ปริมาณผู้โดยสารและปริมาณสินค้าบนเครื่องบินและเฟอร์รี่อาจจะไม่ลดลงก็ได้ ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่จะช่วยกระตุ้นการเดินทางและการขนส่งสินค้า รวมทั้งจะเพิ่มทางเลือกการเดินทางและการขนส่งสินค้า ใครเห็นว่าทางเลือกใดเหมาะสมสำหรับตนก็เลือกทางนั้น

หากรัฐบาลเห็นว่าแนวคิดนี้ควรจะได้รับการสานต่อ ผมก็ขอเสนอให้รัฐบาลเร่งศึกษาความเป็นไปได้ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทำประชาพิจารณ์ หากได้ผลว่ามีความเป็นไปได้ ก็ลงมือก่อสร้างให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นของขวัญให้ชาวไทยทุกคนที่จะมีทางเลือกในการเดินทางและการขนส่งสินค้ามากขึ้น รวมทั้งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในภาคใต้ ถือเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์