เมืองไทยในอดีต กรุงเทพฯเมื่อ ๕๐ ปีก่อน


แต่โบราณกาลมาแล้ว ชีวิตประจำวันของคนไทย เกี่ยวพันอยู่กับลำแม่น้ำ จะปลูกบ้านสร้างเรือนกันที ก็ต้องเลือกปลูกในทำเลที่ใกล้แม่น้ำ หรือริมฝั่งแม่น้ำ วัดวาอารามส่วนมากก็ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ที่จับจ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนคือตลาด ก็ต้องเป็นที่ใกล้ริมลำแม่น้ำ แม้ธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของไทยก็มักจะเกี่ยวพันอยู่กับแม่น้ำ เป็นต้นว่า การทอดกฐิน การลอยกระทง การเล่นสนุกบางอย่างเป็นต้น จึงเห็นได้ว่าชีวิตจิตใจของคนไทยขึ้นอยู่กับแม่น้ำแท้ ๆ ที่บางแห่งหากน้ำเข้าไปไม่ถึง คนไทยก็มักจะช่วยกันขุดคลองให้เป็นทางน้ำไหลผ่านเข้าจนได้ ฉะนั้นในเมืองใหญ่ ๆ เช่นกรุงเทพฯ เราจะเห็นได้ว่ามีลำคลองมากมาย จนมีคำกล่าวว่ากรุงเทพฯ เท่ากับเป็นเมืองเวนิสตะวันออก ลำคลองที่เห็นกันในกรุงเทพฯ เวลานี้หลายท่านอาจเห็นไปว่า ไม่มีประโยชน์ มีไว้ทำไมกัน ถมเสียให้หมดรู้แล้วรู้รอดไปแต่ถ้าหลับตานึกย้อนไปถึงเมื่อ ๕๐–๖๐ ปีที่ล่วงมาแล้ว ลำคลองเหล่านี้แหละเท่ากับเป็นเส้นโลหิตใหญ่ของกรุงเทพฯ สมัยนั้นทีเดียว เพราะการสัญจรไปมา การค้าขาย การท่องเที่ยว ตลอดจนคมนาคมอื่น ๆ ของคนไทย ได้อาศัยลำน้ำและลำคลองมากยิ่งกว่าทางบก ข้อนี้สังเกตได้จากหลักฐานง่าย ๆ คือคนไทยโบราณมีความรู้ความชำนาญในการใช้เรือและรู้จักต่อเรือมากกว่าพาหนะที่ใช้บนบก เรือที่ต่อโดยฝีมือคนไทยก็มักรูปร่างและขนาดที่เหมาะแก่งานที่ใช้ เช่น พวกขุนนางอยากท่องเที่ยว เราก็มีเรือเก๋งไว้ให้เที่ยวโดยเฉพาะ ถ้าเป็นงานราชพิธีก็มีเรือหงส์ไว้ใช้ ถ้าต้องการเล่นเป็นเกมกีฬา เราก็มีเรือแข่ง นอกนั้น ก็มีเรือไว้ในบรรทุกเรือใช้งานต่าง ๆ เช่น เรือพายม้า เรือสำปั้น เรือหมู ถ้าต้องการไปไหนเร็ว ๆ และไปคนเดียวก็ใช้เรือบดเล็ก ๆ พายได้คล่องแคล่วและรวดเร็ว ทันอกทันใจ เรือต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ละแบบ แต่ละขนาด ล้วนเป็นเรือที่ต่อขึ้นใช้งานแต่ละอย่างได้อย่างเหมาะเจาะ นี่นับว่า การต่อเรือตลอดจน การประดิษฐ์แบบเรือ ในสมัยโบราณเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง แม้ในประเทศข้างเคียง เช่น พม่า มอญ ลาว เขมร มลายู เหล่านี้ ศิลปะการต่อเรือก็หาเจริญเท่าเมืองไทยไม่

การที่คนไทยถือว่าแม่น้ำลำคลองเป็นอุปกรณ์สำคัญของชีวิตประจำวันก็ดี การที่การต่อเรือในเมืองไทยสมัยก่อนเจริญรุ่งเรืองก็ดี ถ้าจะพิจารณาถึงในด้านภูมิศาสตร์ก็เห็นว่า เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้องปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติ เพราะผืนแผ่นดินไทยส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มและอยู่ในเขตฝนตกชุก พื้นดินเฉอะแฉะอยู่ตลอดปี การคมนาคมทางบกนั้นไม่ต้องสงสัยกันละต้องเต็มไปด้วยโคลนตมแน่ ธรรมชาติจึงบังคับให้คนไทยต้องหันหน้าพึ่งทางน้ำยิ่งกว่าทางบก อาจจะมีผู้ถามว่า ก็ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่ทำถนนหนทาง ลาดยาง เทคอนกรีตใช้กันบ้างล่ะ เรื่องนี้ ก็ไม่ควรจะลืมว่า การก่อสร้างถนนไม่ใช่ของทำได้โดยง่าย เพราะพื้นดินโชกชุ่มเป็นโคลนเลนมากกว่าที่ ๆ เป็นดอนแข็ง หินที่จะเอามาเททับลงไปก็หายาก ยิ่งกว่านั้น แม่น้ำลำคลองที่มีมากอยู่แล้วก็บังคับให้ต้องสร้างสะพานเป็นจำนวนมาก ฉะนั้น ในสมัยโบราณ ถ้าจะให้คนไทยเลือกเอาว่าจะขุดคลองดี หรือว่าทำถนนดี คนไทยโบราณว่า ขุดคลองดีกว่า ง่ายกว่า ถูกกว่า และยังจะได้อาศัยน้ำจากลำคลองในการบริโภคและการเพาะปลูกอีกด้วย ที่สำคัญก็คือ คลองนั้น ถ้าลงได้ขุดแล้วก็แล้วกัน ทำหนเดียว แต่ใชได้ตลอดกาล โดยไม่ต้องมาเสียเงินเสียเวลาตั้งหน้าตั้งตาทำนุบำรุงเหมือนถนน เพราะเหตุนี้แม่น้ำลำคลองในเมืองไทยจึงได้มีมาก แล้วก็เลยพลอยให้การต่อเรือเจริญรุ่งเรืองไปด้วย

เท่าที่ได้กล่าวมานี้ ก็พอจะเห็นกันแล้วว่า ทำไมบรรพบุรุษของคนไทยจึงไม่นิยมทำถนน ทำไมจึงไม่รู้จักสร้างรถยนตร์ใช้ ทุกวันนี้ ถนนหนทางเจริญขึ้น รถรามีมากขึ้น การคมนาคมทางบกสะดวกและรวดเร็ว ความจำเป็นในการใช้คลองและเรือก็ลดน้อยถอยลงไป คนไทยหันมานิยมทางบก ซื้อรถยนตร์ฝรั่งมาวิ่งกันปรู๊ดปร๊าดน่าเสียวไส้ รัฐบาลก็เร่งระดมทำถนน ทำเท่าไหร่ ก็ไม่พอใช้ รถมันมากกว่าถนน ถนนเฉพาะในกรุงเทพฯ รถต้องแย่งกันวิ่งแย่งกันไปแย่งกันมา บางทีมีการหยุดรถลงไปใช้กำปั้นสั่งสอนคนขับอีกคันหนึ่งเข้าให้หาว่าขับไม่เป็นแล้วยังอยากมาขับ บางทีก็ตะโกนถามกันโหวกเหวกว่า ไงพวก ใช้น้ำมันตราเต่าเรอะ บางทีเจ้าของรถก็ต้องไปตกลงเรื่องการใช้ถนนกันที่โรงพัก บางทีก็ไปโรงพยาบาล แต่พวกฝรั่งเปี๊ยบ หัวสมัยหน่อย บอกว่า โรงพักก็ไม่ชอบ โรงพยาบาลก็ไม่เอา อยากไปอยู่แห่งเดียว เพราะพูดจาว่ากล่าวกันเต็มปากเต็มคำหน่อย คือที่วัดดอน

เพราะเหตุว่า ในปัจจุบัน รถมีมาก ถนนก็เยอะ แม่น้ำลำคลอง เรือพายม้า เรือสำปั้น เรือแจว อันเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่มาแต่เดิม ก็หมดความจำเป็นลงไป หันมาใช้รถกันหมด ทั้งที่รถก็ทำไม่เป็น ต้องซื้อเขามาใช้ โดนเขกเอาแพง ๆ เข้า พวกฝรั่งจ๋า ก็ชักเดือด อ้ายที่พอมีเงินซื้อก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ที่ไม่ค่อยมีจะกินแล้วอยากซื้อน่ะซิร้ายนัก บ่นอุบว่า รถยนตร์แพงหูฉี่ ที่เดือดน่ะ ไม่ใช่เดือดฝรั่งคนขายหรอก กลับมาเดือดปู่ย่าตายาย หาว่าโง่เง่าไม่ทันฝรั่ง ไม่รู้จักช่วยกันคิดทำรถยนตร์ไว้ให้ลูกให้หลานใช้ ไพล่ไปทำเรือ ทำทำไม ไม่เห็นได้ความ ไม่เห็นมีใครใช้ พวกนี้คงลืมเหตุเดิมและลืมนึกไปถึงความจำเป็นที่บรรพบุรุษของเราต้องช่วยกันขุดคลองให้น้ำไหล ทำเรือไว้ใช้ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

ในกรุงเทพฯ พระมหานครของเรานี้ ไม่ต้องมากต้องมาย นึกย้อนหลังไปสัก ๕๐–๖๐ ปีก็พอ บ้านเมืองยังไม่เจริญ รถรายังไม่มาก ผู้คนไม่คับคั่งเหมือนทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนนหนทางยังมีน้อย มีอยู่เพียงสามสี่สายเท่านั้น

ได้เล่ามาแล้วว่า การสัญจรไปมาในกรุงเทพฯ สมัยเมื่อ ๕๐ ปีก่อนโน้น เนื่องจากถนนหนทางยังไม่มีจึงใช้เรือกันเป็นพื้น ถ้าเป็นชั้นเจ้านาย หรือเจ้าพระยา ก็ใช้เรือสำปั้นเก๋ง มีคนพายสัก ๑๐ คน ถ้าเป็นชั้นรองลงมา เงินน้อยหน่อยก็ใช้เพียงสำปั้นประทุน คนพาย ๖–๗ คน ถ้าเป็นคนธรรมดาก็ใช้เรือสำปั้นแต่ไม่มีประทุนบ้าง เรือหมูบ้าง ที่เรียกเรือหมูนั้น เป็นเรือหัวท้ายแหลม กลางปล่องกว้างออกไป เดิมเจ๊กใช้บรรทุกหมูไปขาย เลยเรียกกันว่าเรือหมู นอกนั้นก็มีเรือบด เรือพายม้า เรือเข็ม เป็นต้น แต่ละบ้าน มักมีเรือเป็นสองขนาด หรือสองลำ ลำหนึ่งไว้บรรจุของใหญ่หน่อย อีกลำหนึ่งไว้สำหรับไปไหนมาไหน พายเดียวหรือสองพาย เป็นอย่างมาก พวกหนุ่ม ๆ มักมีเรือไว้พายเที่ยว คือเรือเข็ม ที่เรียกว่าเรือเข็ม เพราะรูปร่างมันเรียวยาว ความกว้างของเรือพอนั่งได้คนเดียว คนพายนั่งกลางลำ มีพนักนั่งพิง เวลาพายก็นั่งเหยียดเท้าไปข้างหน้า หลังพิงพนัก สบายไปเลย พายสำหรับเรือเข็มมีสองใบ พายซ้ายที ขวาที เรือวิ่งตรงเอง ไม่ต้องคัดต้องวาด ถ้าจะเปรียบกับสมัยนี้ เรือเข็มก็เท่ากับรถสปอร์ตเพรียวลม หนุ่ม ๆ ว่าโก้ดีนัก

เพราะเหตุที่รถไม่มี ถนนใหญ่ ๆ สำหรับรถจึงไม่มี จะมีก็แต่เป็นทางแคบ เป็นตรอกกว้างพอเดินมากกว่า การไปมาขึ้นอยู่กับเรือ ในกรุงเทพฯ จึงเต็มไปด้วยคลอง พวกฝรั่งที่เข้ามาสมัยนั้น ถึงกับให้สมญาว่า “เวนิสตะวันออก” แต่คลองที่เห็นกันในกรุงเทพฯ เดียวนี้ ก็ลดน้อยลงไปทุกที ส่วนมากก็สกปรก ตื้นเขิน คนก็ชอบเทของถ่ายสิ่งโสโครกขยะมูลฝอยลงในคลอง บางทีพวกมักง่ายตั้งเวจไว้ริมคลองเลยก็มี สมัยก่อนเด็ก ๆ ลงไปอาบน้ำเล่นน้ำดำผุดดำว่ายกันเป็นที่สนุกสนาน ถึงจะโสโครกบ้างแต่ก็ยังน้อย เพราะคนน้อย แต่เดียวนี้คนมาก การลงเล่นน้ำในคลองจึงไม่มี เพราะมองดูน้ำแล้วน่าจะขยะแขยงมากกว่าน่าเล่น ถึงกระนั้น เด็กบางคน บางพวก ก็พยายามกลั้นอกกลั้นใจ หลับหูหลับตา เล่นน้ำกันได้สนุกสนานไปเหมือนกัน คลองที่เห็นในกรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ถูกถมเสียมาก เพราะถนนหนทาง รถรามีมาก การคมนาคมทางบกเจริญขึ้น ทางน้ำก็ลดความจำเป็นลง ความเป็น “เวนิสตะวันออก” ก็หมดไป

ทีนี้ว่าถึงการคมนาคมทางบกในสมัยเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ถ้าเป็นคนสามัญใช้เดินกันเป็นพื้น ถ้าเป็นเจ้านายมักทรงเสลี่ยง มีคนหาบ ๔ คน ถ้าเป็นเจ้านายหนุ่ม ๆ ต้องทรงม้าถึงจะทันสมัย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า “ถ้าเสด็จเข้าเฝ้าหรือเสด็จไปในเวลามีงานมีการ มีตำรวจถือมัดหวายนำคน ๑ และมีคนเชิญพระกลดกับพวกมหาดเล็กเชิญเครื่องตามข้างหลังเป็นหมู่ ถ้าเป็นแต่เที่ยวเล่นก็มีบริวารแต่น้อย หรือทรงม้าไปโดยลำลองเหมือนกับผู้อื่น กรมหมื่นราชศักดิ์ฯ ชอบทรงม้า เวลาฉันไปตามเสด็จประทานม้าให้ขี่ตัว ๑ สมัยนั้นอานฝรั่งก็ยังหายาก มีแต่สำหรับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯ ทรงอานเดียว ฉันต้องหัดขี่ม้าด้วยเบาะไทยไม่มีโกลน เรียกกันว่า ‘เบาะหัวโต’ เคยตกครั้ง ๑ แต่ก็เลยขี่เป็นมาแต่นั้น” สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าต่อไปว่า “ขุนนางผู้ใหญ่ชั้นเจ้าพระยา และพระยาที่ใด้พานทองเครื่องยศ เวลาไปไหนมาไหน นั่งแคร่หาม ๔ คน ที่เป็นพระยาชั้นรองลงมาก็ขี่คานหาม มักเรียกกันว่าเปลญวน หาม ๒ คน มีทนายถือร่มกับหีบหมากและกาน้ำตามหลัง ที่ยศต่ำกว่านั้นลงมาอีก ก็ขี่ม้าหรือไม่ก็เดิน สุดแล้วแต่ฐานะความเป็นอยู่พูดง่าย ๆ ว่า แล้วแต่เงิน”

ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้มีการทำสัญญาเปิดบ้านเปิดเมือง ยอมให้พวกฝรั่งเข้ามาค้าขาย มีกงสุลฝรั่ง และพ่อค้าฝรั่งไปมาค้าขายมากขึ้นทุกที (เรื่องเกี่ยวกับฝรั่งเข้ามาในเมืองไทยนี้ จะได้กล่าวไว้เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ทางสถานีวิทยุแห่งนี้ ถ้าสนใจโปรดติดตามฟังก็แล้วกัน) เมื่อฝรั่งต่างชาติเข้ามาหากินในเมืองไทยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะทำนุบำรุงกรุงเทพฯ พระมหานครให้เจริญรุ่งเรืองตามแบบอารยประเทศ มิให้พวกฝรั่งดูหมิ่นได้ ประกอบกับตอนนั้น เริ่มมีรถม้าวิ่งมากขึ้น แต่ถนนหนทางไม่มีจะให้วิ่ง จึงโปรดให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในรัชกาลที่ ๕) กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ไปดูลักษณะการที่อังกฤษทำนุบำรุงเมืองสิงคโปร์ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ เพราะเมืองสิงคโปร์อยู่ใกล้ไปมาสะดวก และโปรดให้ตัดถนนเจริญกรุงสำหรับให้รถวิ่งในปีนั้น ความจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริปรารถนา ที่จะเสด็จสิงคโปร์ด้วยพระองค์เองอยู่แล้ว ชะรอยจะใคร่ทรงสืบสวนถึงวิธีปกครองบ้านเมืองแบบฝรั่ง แต่พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเสด็จต่างประเทศนั้นเป็นการใหญ่ จึงต้องรอหาโอกาสมาจนถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อเสด็จลงไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาหมดดวง ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ เซอรแฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์และภรรยาได้เข้ามาเฝ้าดูสุริยุปราคาด้วย เซอรแฮรี่ออด ได้ทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ ก็ได้ตรัสรับว่าจะเสด็จไปเยี่ยมตอบ แล้วได้ทรงปรึกษากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็เห็นชอบด้วย แต่กราบบังคมทูลขอให้มีเวลาตระเตรียมก่อน แต่เผอิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มาประชวรเสด็จสู่สวรรคตเสีย การที่จะเสด็จไปสิงคโปร์ก็เลยค้างอยู่

ทีนี้เล่าเรื่องถนนต่อไป ถนนที่โปรดให้สร้าง และที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือถนนเจริญกรุง ซึ่งเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ เป็นถนนที่มีความยาวที่สุดในสมัยนั้น คือยาวถึง ๑๐ กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่พระบรมมหาราชวังเรื่อยไปจนถึงถนนตก ถนนสายอื่น ๆ ก็มีถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และ ถนนรอบพระบรมมหาราชวัง ถนนแต่ละสาย การก่อสร้างสมัยโน้น ไม่มีการลงราก เพียงแต่ทุบพอให้ดินเรียบ แล้วก็เอาอิฐเรียงตะแคง อัดให้แน่นด้วยดินหรือทรายกลางนูนอย่างที่เรียกกันว่า “หลังเต่า” ความกว้างของถนน ๘ เมตร (๔ วา) ซึ่งคนสมัยนั้นเห็นแล้วส่ายหน้า บ่นกันพึมพัมไปหมด ว่ากว้างเกินไปจะเอารถที่ไหนมาวิ่ง เปลืองเงินเปลืองทองเปล่า ๆ ข้าง ๆ ถนนทำเป็นร่องให้น้ำไหล กว้างประมาณ ๔๐ ซ.ม. ลึกราว ๆ ๖๐ ซ.ม. ถนนที่สร้างขึ้นนี้ ถึงแม้จะมียานพาหนะหรือรถวิ่งน้อย แต่ก็ทรุดโทรมเป็นหลุมเป็นบ่อลงในระยะเวลาอันรวดเร็ว ถนนแต่ละสาย พอถึงฤดูแล้งเต็มไปด้วยฝุ่น พอถึงฤดูฝนก็เต็มไปด้วยโคลนเลน ผู้ใช้ถนนหรือรถรามักจะหาทางเดินหลีกโคลนออกไปนอกถนน ผู้ที่แข็งใจเดินในถนนต้องเอาวิชาหนุมานมาใช้ ถึงกระนั้น ก็ยังต้องลงไปนอนวัดความกว้างความยาวของถนนกันเนือง ๆ การซ่อมถนนนั้น เมื่อตรงไหนเสียเป็นหลุมเป็นบ่อก็เอาหินมาถมแล้วก็บดให้แน่น ต่อมาก็เปลี่ยนวิธีเป็นเกลี่ยและทุบดินให้เรียบ แล้วเอาหินใส่ข้างบนแล้วใช้รถบดอีกทีหนึ่ง

ถนนที่นับว่าเจริญที่สุด คือถนนเจริญกรุงนี่เอง เจริญสมชื่อ เพราะเป็นถนนที่มีโรงร้านบ้านฝรั่งและสถานกงศุลของชาวตะวันตก ตั้งอยู่เป็นอันมาก และเป็นถนนที่ติดต่อกับท่าเรือทางถนนตก จึงมีผู้สัญจรไปมาใช้ถนนนั้นมากสองฟากถนนเป็นตึกร้านค้าซึ่งส่วนมากเป็นพวกจีน ย่านที่สวยงามที่สุดของถนนสายนี้ คือย่านประตูสามยอด เห็นจะเป็นเพราะที่ประตูสามยอดมีโรงหวยโรงบ่อนเป็นแหล่งการพนัน เป็นที่ชุมนุมชน ประตูสามยอดอยู่ที่เชิงสะพานดำรงสถิต ทางทิศตะวันตก ที่เรียกกันว่า สะพานเหล็กบน เดิมมีประตูใหญ่แบบไทย มีสามช่อง แต่ละช่องมียอด จึงเรียกกันว่า ประตูสามยอด ตามช่องประตูมีบานประตูทำด้วยเหล็กแข็งแรงช่องละสองบาน เปิดปิดได้ เป็นประตูกำแพงเมืองด้านสำคัญ ถนนเจริญกรุงลอดประตูทั้งสามนี้ไป ยานพาหนะอื่น ๆ ลอดสองช่องเหนือ ช่องใต้สุดสำหรับรถรางโดยเฉพาะ

ถนนเจริญกรุงตอนที่อยู่ภายในกำแพงเมือง สองข้างถนนเป็นตึกแถวชั้นเดียว เป็นระยะไม่ติดต่อกันเหมือนสมัยนี้ ตึกแถวเหล่านี้ ส่วนมากก็เป็นร้านค้าของคนจีน เวลาฝนตกน้ำจากถนนไหลนองเข้าไปในร้าน เพราะท่อระบายน้ำเล็ก และตัน เนื่องด้วยชาวร้านกวาดเทขยะลงไปในท่อ แล้วไม่มีปัญญาคุ้ยเขี่ยขึ้น ร้านก็เลยนองเป็นทะเลไม่มีทางแก้ ต้องปล่อยให้น้ำแห้งไปเอง คิด ๆ ดูก็สมน้ำหน้า ไม่ช่วยกันรักษานี่

สมัยนั้น สองข้างถนน ปลูกต้นไม้ไว้เป็นระยะ กินเนื้อที่ถนนเข้าไปราวข้างละประมาณ ๒ เมตร ทำให้ถนนแคบเข้าไปอีก แต่ก็รู้สึกกันในสมัยนั้นว่าไม่แคบเลย กว้างเกินไปเสียด้วยซ้ำ ต้นไม้เหล่านี้ นัยว่า ปลูกไว้เป็นร่มบังแดดแก่คนเดินถนน แต่ก็ไม่สู้จะได้ผลเท่าใดนัก เห็นงามอยู่ตอนเดียว คือตับหูกวางที่ปลูกไว้ระหว่างสะพานมอญกับสี่กั๋กพระยาศรี กิ่งก้านสาขาเป็นร่มให้คนเดินถนนได้จริง ๆ แต่ฝุ่นละอองก็ขึ้นไปจับตามกิ่งตามใบเสียเขรอะ เกรอะกรังไปหมด เวลาลมพัดหรือฝนตก สิ่งโสโครกก็ล่วงมาใส่คน ก็เลยไม่ใคร่มีใครพอใจอยู่นั่นเอง

เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นที่บ้านญวน ตำบลบ้านหม้อ ไหม้ถึงสองคราวติด ๆ กันมิหนำซ้ำบริเวณที่ไฟไหม้ยังติดกันเสียด้วย เนื้อที่กว้างออกไปถนัดใจทีเดียว ทางการจึงได้ตัดถนนขึ้นในบริเวณที่ไฟไหม้สายหนึ่ง คือถนนพาหุรัด เป็นถนนที่กว้างที่สุดคือกว้างถึง ๑๐ วา (หรือ ๒๐ เมตร) ได้เล่าไว้ข้างต้นแล้วว่า ถนนเจริญกรุงกว้างเพียง ๔ วา (คือ ๘ เมตร) เท่านั้น คนก็ยังบ่นว่ากว้างเกินไป ถนนพาหุรัดกว้าง ๑๐ วา เลยบ่นกันมากยิ่งขึ้นไปอีก ว่าจะเอาคนที่ไหนมาเดิน เอารถที่ไหนมาวิ่ง ไม่เป็นประโยชน์ และว่ากันว่า การที่ในหลวง โปรดให้สร้างถนนกว้างถึงเพียงนี้ คงเป็นเพราะในหลวงเกรงพระทัย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และทรงวางแผนทำถนนพาหุรัดขึ้น แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ถนนพาหุรัดกว้างหรือแคบ ทุกท่านคงเห็นอยู่แล้ว เรื่องถนนนี้ มีอยู่ยุคหนึ่งที่มีการตัดถนนกันมากและรวดเร็วที่สุด คือยุคที่พลายมงคลติดคุก

พลายมงคลเป็นใคร ? ได้ยินชื่อก็พอจะเดากันออก โปรดอดใจไว้สักประเดี๋ยว เป็นรู้กันแน่ เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องพลายมงคลดี ว่าเกี่ยวข้องกับการตัดถนนอย่างไร ทำไมพลายมงคลจึงได้ติดคุก ? ขอแทรกเรื่องละครไว้สักนิด

สมัยก่อนรัชกาลที่ ๔ ขึ้นไปจนถึงสมัยกรุงเก่า ในเมืองไทยเรานี้ มีละครเล่นเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นละครหลวง มีอยู่โรงเดียว เล่นเฉพาะภายในพระบรมมหาราชวัง ใช้ผู้หญิงเล่นล้วน เรียกว่า ละครใน อีกอย่างหนึ่ง เป็นละครที่เล่นกันภายนอกพระบรมมหาราชวัง ตามพื้นเมืองทั่วไป ใช้ผู้ชายเล่นล้วน เรียกว่า ละครนอก ขอให้หลับตานึกถึงละครนอกดู คงไม่น่าดูน่าชมเท่าไหร่ เพราะตัวพระตัวนางเป็นผู้ชายทั้งนั้น ละครนั้นท่านว่าต้องให้ผู้หญิงเล่นจึงจะน่าชม ด้วยกิริยาท่าทางของผู้หญิงช้อยชดชะมดชะม้อยน่าเอ็นดูกว่าผู้ชายเป็นไหน ๆ แต่ถึงกระนั้นโต้โผละครนอก ก็ไม่กล้าใช้ผู้หญิงเล่นละคร เพราะเกรงจะไปซ้ำกับของหลวง และเป็นการแข่งของหลวงไป มันผู้ใดขืนเอาผู้หญิงมาเล่นละครนอก มันผู้นั้นจะต้องมีความผิดและต้องถูกเหากินหัวโดยมิต้องสงสัย การณ์เป็นอยู่เช่นนี้มาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชานุญาตให้ผู้หญิงเล่นละครนอกได้ โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ละครผู้หญิงมีโรงเดียวไม่พอ ต้องมีด้วยกันหลาย ๆ โรงจึงจะดี การละครจะได้เจริญเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองต่อไป หลังจากนั้น พวกเจ้านายก็ฝึกหัดผู้หญิงเล่นละครเป็นการใหญ่ มีกันคนละโรงสองโรง แรก ๆ ก็มีไว้ดูเอง มีไว้ประดับเกียรติยศบ้าง ต่อมาภายหลังก็รับงานหาด้วย ละครบางโรงก็ออกเล่นเก็บเงินค่าดู แต่เนื่องจากคนดูยังน้อย ผู้คนไม่มากเหมือนสมัยนี้ จึงเล่นแต่วันเสาร์และวันอาทิตย์ ก็เลยเรียกสถานการแสดงในสมัยโน้นว่า “วิค” มาจนถึงบัดนี้ ฝ่ายท่านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ มีความเห็นว่า ละครรำแบบไทย ช้ายืดยาดไม่ทันใจคน จึงพยายามดัดแปลงเรื่องละครไทยให้เป็นออเปรา หรือที่เรียกกันสมัยนี้ว่า “มหาอุปรากร” สร้างโรงละครแบบชาวตะวันตกทีเดียว เรียกว่าโรงละครดึกดำบรรพ์ เรื่องละครนี้ เล่าโดยละเอียดเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

คราวนี้ หันมาเข้าเรื่องพลายมงคลต่อไป พลายมงคลเป็นช้างของท่านเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ผู้ให้กำเนิดละครดึกดำบรรพ์ดังกล่าวแล้ว ท่านเลี้ยงมันไว้แต่เล็ก ให้ชื่อว่าพลายมงคล มันคลุกคลีตีโมงอยู่กับคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเด็ก ๆ จนเชื่อง เมื่อพลายมงคลเติบใหญ่ขึ้นมาหน่อย ท่านเจ้าคุณได้ฝึกหัดให้มันเล่นโขน เป็นตัวพญาช้างเอราวัณ พลายมงคลก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นช้างศิลปินได้เป็นอย่างดีทีเดียว พอหนุมานปีนขึ้นไปหักคอช้าง พลายมงคลก็ทำท่าเป็นว่าถูกหักคอ พอปี่พาทย์ทำเพลงโอด ยอดช้างพลายมงคลก็ทำล้มลงแล้วแน่นิ่งไป คนดูชอบอกชอบใจกันมาก คราวนี้เวลาหมดบท ช้างแสนรู้เชือกนี้ก็ลุกขึ้น ทำเหลียวหน้าเหลียวหลังวิ่งหางชี้เข้าโรงไป

มีกะทาชายนายหนึ่งชื่อ นายภู่ มีหน้าที่เลี้ยงช้าง แต่ไม่ยักกินขี้ช้าง ตามคำพังเพยโบราณ ไพล่ไปชอบกินเหล้าเวลากลางวันว่างการแสดง นายภู่ก็พาพลายมงคลเดินไปตามถนนหลวง หาหญ้า หาใบไม้กินไปตามเรื่องของช้าง สมัยนั้นตามข้างถนนในกรุงเทพฯ อุดมไปด้วยหญ้าและต้นไม้ดังได้กล่าวแล้ว ผู้คนชาวพระนครจึงพากันเอ็นดูมันมาก ให้ทานกล้วยอ้อยของกินแก่มันอยู่ตลอดเวลา เวลาใครให้พ่อพลายก็ชูงวงจบขอของกิน เมื่อได้รับแล้วก็คุกเข่าชูงวงจบอีกทีหนึ่งถึงจะกิน เลยพลอยพาให้นายภู่คนเลี้ยงได้อัฐค่าเหล้าปรีดิ์เปรมไปด้วย เมาแอ๋ทุกวัน พอพลายมงคลเจริญวัยขึ้นเป็นช้างหนุ่ม กลายเป็นช้างงาม สูงกว่าสี่ศอก งาแหลมยาวศอกเศษ ท่าทีพ่วงพีเป็นช้างที่ถูกต้องตามลักษณะช้างที่ดีทั้งหลาย แต่เป็นธรรมดาของช้างหนุ่ม ก็เหมือนคนหนุ่มนั่นเอง วันหนึ่งมันตกมัน มันดุมากมิหนำซ้ำพ่อยอดชายนายภู่คนเลี้ยงเอาเหล้าให้มันกินเข้าไปอีก มันเลยเมามันเมาเหล้าแผลงฤทธิ์อาละวาดใหญ่ นายภู่ตกใจหายเมาดังปลิดทิ้ง แต่ก็ช้าไปเสียแล้ว พลายมงคลฉลองคุณคนเลี้ยงเสียยับ เอางาทิ่มแทงและเอาตีนกระทืบสั่งสอนนายภู่เสียแบนตายคาที่ ยิ่งกว่านั้น พลายมงคลยังฆ่าควาญเสียอีกสองคน ฐานสมคบกันกับนายภู่เอาเหล้าให้มันกินเวลาตกมัน แต่นั้นมาเลยไม่มีใครกล้าอาสาเลี้ยงพลายมงคลอีก ท่านเจ้าพระยาเทเวศร์ฯ ผู้เป็นเจ้าของ ก็ไม่รู้จะจัดการกับพลายมงคลอย่างไร เลยไปแจ้งความให้ตำรวจจับพลายมงคลไปในข้อหาฐานฆ่าคนตาย พลายมงคลกลายเป็นอาชญากรสำคัญไปเสียแล้ว ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่รู้ว่าจะเอาช้างตัวน[นี้]ไปทำอะไรเหมือนกัน ในที่สุด พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล (คือมหาดไทยเดี๋ยวนี้) จึงออกวิธีให้จำคุกพลายมงคลไว้ตลอดชีวิต

คราวนี้เข้าเรื่องสร้างถนนได้ละ อันธรรมดานักโทษสมัยนั้นต้องถูกใช้ให้ทำงานหนักเพื่อจะได้จำหลาบ ไม่ประพฤติชั่วอีกต่อไป ยิ่งนักโทษในคดีอุกฉกรรจ์ยิ่งต้องทำงานหนักมาก ก็พลายมงคลมีโทษฐานฆ่าคนตายรวดเดียวถึง ๓ ศพ อันจัดเป็นโทษร้ายแรงต้องติดคุกตลอดชีวิต ก็ต้องถูกใช้ให้ทำงานหนักด้วย ถึงจะเป็นช้างก็ไม่ยกเว้น เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ช้างอื่น พลายมงคลถูกส่งมาช่วยสร้างถนน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จึงทรงจ้างควาญผู้ชำนาญมาจากเมืองเหนือมาบังคับพลายมงคล ได้ทรงออกแบบสร้างรถบรรทุกหินขนาดใหญ่ให้พลายมงคลเทียมลากไป เลยทำให้ขนหินทำถนนได้คราวละมาก ๆ ก่อนพลายมงคลติดคุก การสร้างถนนต้องใช้เกวียนเทียมโคขนหิน ซึ่งขนได้คราวละไม่มากนัก ครั้นถึงสมัยพลายมงคล พลายมงคลได้ทำความสำเร็จให้แก่ถนนภายในกำแพงพระนครได้อย่างรวดเร็ว และมากสายทีเดียว

อย่างไรก็ดี พลายมงคลแม้จะเป็นช้างอันเป็นสัตว์ใหญ่เหมาะแก่งานหนักก็ตาม แต่พลายมงคลต้องทำงานผิดธรรมชาติของมัน คือช้างนั้นเหมาะแก่การบรรทุก ไม่เหมาะแก่การเทียมลากรถบรรทุกประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งโดยที่พลายมงคลทำงานได้รวดเร็ว ถนนหนทางเสร็จเร็ว ขุนถนนผู้ทำหน้าที่ควบคุมการสร้างก็ได้รับความชมเชย แต่ขุนถนนก็อยากได้รับความชมเชยมากยิ่งขึ้นไปอีก พลายมงคลก็เลยไม่มีเวลาพักผ่อน อาหารก็ไม่พอเพียง แรงน้อยกำลังถอยทรุดลงไปทุกวัน ผลที่สุดก็เลยล้ม ตายเพราะงานหนัก น่าเสียดายอยู่

ทีนี้จะเล่าถึงการขยายถนนบำรุงเมืองไว้สักหน่อย ด้วยมีเรื่องขำ ๆ อยู่เหมือนกัน ถนนบำรุงเมืองเดิมเป็นถนนแคบ ๆ แต่ก็เป็นถนนที่เจริญ มีตึกรามร้านค้าสองฟากถนนติดต่อกันไปเป็นพืด ไม่เหมือนถนนเจริญกรุง ซึ่งมีตึกแถวบ้านช่องเป็นหย่อม ๆ ดังเล่ามาแล้ว เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ขยายถนนบำรุงเมืองให้กว้าง เพื่อให้รถวิ่งและการสัญจรไปมาสะดวกไม่แออัด แต่ติดขัดด้วยร้านค้าสองฟากถนนจะต้องถูกรื้อมาก จึงโปรดฯ ให้ว่ากล่าวกับเจ้าของที่ให้รื้อเสีย ถ้าจะปลูกตึกใหม่ให้ปลูกตามแบบหลวง หรือจะให้หลวงปลูกให้ก็ได้ แต่ต้องให้หลวงเก็บค่าเช่าไปจนคุ้มต้นทุนก่อน จึงจะคืนเจ้าของเดิม มีเรื่องเล่าว่า ริมถนนบำรุงเมืองแห่งหนึ่ง มีศาลเจ้าจีน สร้างเป็นตึกใหญ่เรียกกันว่า “ศาลเจ้าเสือ” กีดทางที่จะขยายถนน จึงพระราชทานที่หลวงที่ริมถนนเฟื่องนคร ให้ย้ายศาลเจ้าเสือมาตั้งที่นั้นและจะสร้างศาลใหม่แทนตามเดิมให้ พวกจีนไม่พอใจให้ย้าย จึงพากันคิดอุบายให้เจ้าเข้าคนทรง แล้วพูดจาพยากรณ์ว่า ถ้าย้ายศาลจะเกิดอันตรายต่าง ๆ พวกจีนในสำเพ็งเกิดหวาดกลัวภัยกันยกใหญ่ พวกจีนจึงมาขอแห่เอาใจเจ้าไม่ให้คิดร้าย ก็พระราชทานให้แห่ได้ตามประสงค์ เสด็จออกทอดพระเนตรแห่ที่พระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ ขบวนแห่ก็อย่างแบบจีน คือมีธงทิว และล่อโก๊เป็นต้น คนทรงใส่เสื้อกั๋ก นุ่งกางเกง โพกหัวสีแดง นั่งเก้าอี้หามมาสองสามคน บางคนเอาเข็มเหล็กแทงแก้มทะลุ เข็มคามาให้คนเห็น บางคนบันดาลให้คนหามเก้าอี้เดินโซเซไม่ตรงถนนได้ เมื่อมาถึงพระที่นั่ง ตรัสสั่งให้ตำรวจเข้าหามเจ้าโซเซแทนพวกเจ๊ก ก็หามไปตรง ๆ ได้ คนก็เลยสิ้นความเลื่อมใส เมื่อแห่เสร็จแล้ว โปรดให้กรมเมืองประกาศว่า ถ้าเจ้ายังขืนพยากรณ์เหตุร้ายอีก เอาผิดกับคนทรง ต่อมาไม่ช้า เจ้าเสือเข้าคนทรงอีก ทีนี้บอกว่า ที่ในหลวงโปรดให้ย้ายศาลไปสร้างใหม่นั้นดีนัก เจ้าพอใจมาก ศาลเจ้าเสือก็เลยย้ายจากถนนบำรุงเมือง มาอยู่ริมถนนเฟื่องนคร ใกล้กับวัดมหรรณพ์ฯ มาจนทุกวันนี้

นอกจากถนนบำรุงเมืองแล้ว ยังให้ขยายถนนเพื่องนครตอนบ้านหม้อในครั้งนั้นด้วย แล้วต่อมาจึงได้สร้างถนนพาหุรัดดังได้กล่าวมาแล้ว

กรุงเทพฯ เมื่อ ๕๐ ปีก่อน พูดถึงประชาชนพลเมืองกันแล้วมีไม่มาก มีเพียงห้าหมื่นคนเศษ ๆ แต่สมัยนั้นก็เห็นว่ามากมายเสียนี่กระไร ถ้าจะว่าไปถึงจำนวนคนทั้งประเทศก็มีราว ๖–๗ ล้านคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับทุกวันนี้ จำนวนผิดกันไกลลิบลับ จำนวนพลเมืองเราเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แล้วอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรืออีก ๕๐ ปีข้างหน้าล่ะ ตัวเลขมันจะขึ้นถึงไหน ขณะนี้เราวิ่งเต้นทำมาหากินแทบจะชนกันล้มประดาตาย ก็ยังหาใส่ท้องได้ยากเต็มที ถึงชั้นลูกหลานเหลนเราล่ะ มันจะต้องยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้เป็นของแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย

กรุงเทพฯ สมัยที่กล่าวเปลี่ยนแปลงมาเป็นกรุงเทพฯ ปัจจุบันรวดเร็วเกินคาด เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดที่เรียกว่า พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ต้นเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ คนไทยทุกคนจะต้องไม่ลืมพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ และพระมหากษัตราธิราชเจ้าของเราทุกพระองค์ ที่ได้ทรงเจริญรอยพระยุคลบาทในล้นเกล้าล้นกระหม่อมพระองค์นั้นเสียมิได้เป็นอันขาด

ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้ว ชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทำมาหากินอยู่ในเมืองไทยนั้น ไม่มีคนชาติไหนไหลหลั่งเข้ามามากเหมือนคนชาติจีน ทำไมคนจีนถึงได้ชอบเข้ามาหากินในเมืองไทย ? คำตอบง่าย ๆ ก็คือ เมืองจีนหากินยากเพราะมีคนมาก แต่เมืองไทยคนน้อย พื้นดินก็ชุ่มฉ่ำอุดมสมบูรณ์ออกแรงเพียงนิด ๆ หน่อย ๆ ก็มีเงินแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายอะไรนัก ยิ่งถ้าใครขยันหน่อย กลายเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีเมืองไทยไปเลย เล่ากันว่า คนจีนที่ลงสำเภาใช้ใบมาเมืองไทย พอมาถึงปากอ่าว เห็นทิวไม้เขียวชอุ่มเป็นต้องร้องฮ้อออกมาทุกคน ว่าที่นี้อั๋วไม่อดตายแล้ว พูดถึงความสมบูรณ์พูนสุขของเมืองไทยนี้ จะว่าเป็นคุณก็เป็น จะว่าเป็นโทษก็ได้ ที่ว่าเป็นคุณก็เพราะว่าหากินง่าย ที่ว่าเป็นโทษ อะไรเห็นจะไม่ร้ายเท่าทำให้คนไทยขี้เกียจ เพราะความหากินมันง่ายเกินไป เลยทำให้คนไทยมีนิสัยเฉื่อยชาไม่ดิ้นรน ทำงานนิดเดียวกินไปได้ตั้งหลายวัน พอมีกินแล้วก็หยุด พอหมดก็หาใหม่ แล้วก็หยุด คนไทยจึงไม่ร่ำรวยเหมือนคนจีนซึ่งเป็นคนขยันขันแข็ง มีแล้วยังหา หาอยู่ทุกวัน ไม่รวยอย่างไรไหว นิสัยเสียของคนไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อตอนที่หยุดหากินนั้น ไม่ได้นอนอยู่กับบ้านเฉย ๆ มักชอบหาความสุขใส่ตน ความสุขส่วนมากที่หากัน มักเป็นไปในทางเสี่ยงโชค การเสี่ยงโชคอะไรเล่าจะมาดีไปกว่าการพนัน เพราะเหตุนี้ จึงยิ่งเลยเป็นโอกาสของคนจีน เปิดช่องให้เขาได้หากินได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเราจะโทษเขาไม่ได้ ต้องโทษตัวเราเองจึงจะถูก

เหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้คนจีนชอบเข้ามาหากินในเมืองไทย คือการปกครองแต่โบราณกาลมาแล้ว เราปกครองคนจีนอย่างเดียวกับปกครองคนไทย พระมหากษัตริย์ไทยก็ได้ทรงแต่งตั้งคนจีนให้เป็นขุนนางไทยไปแล้วก็มาก คนไทยทั่ว ๆ ไปก็ต้อนรับคนจีนโดยมิได้มีความรังเกียจเดียดฉัน คนไทยเป็นอันมากได้คลุกเคล้าปะปนกับคนจีนทางด้านการสมรส แต่เสียท่าคนจีนอยู่หน่อย ตรงที่ฝ่ายเรามักจะเป็นผู้หญิง โดยเหตุนี้คนไทยจึงรับเอาวัฒนธรรมจีนหลายอย่างหลายประการเข้าไว้โดยไม่รู้สึกตัว

การพนันบางอย่างซึ่งเรารับมาจากจีน และคนไทยติดกันเสียงอมแงมไปเลย ก็คือการเล่นพนันในโรงบ่อนและโรงหวยเมื่อ ๕๐ ปีก่อน จึงขอเล่าไว้พอสมควร

โรงบ่อน ก็อย่างที่เราเข้าใจกันในทุกวันนี้ว่า สถานคาสิโนนั่นเอง เจ้าของโรงบ่อนจะเปิดโรงบ่อนของตนได้ จะต้องไปขออนุญาตต่อรัฐบาลเสียก่อน และต้องสัญญาว่าในปีหนึ่งจะส่งเงินเข้าหลวงเท่าใด ใครสัญญาว่าจะส่งเงินเข้าหลวงสูงกว่าคนอื่น ผู้นั้นก็เปิดโรงบ่อนได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ การประมูลนั่นเอง ผู้ผูกขาดการเล่นพนันในโรงบ่อนเรียกว่า “ขุนพัฒน์” พระยาอานุภาพไตรภพ เล่าสภาพของโรงบ่อนไว้ในเรื่อง พระมหานครในความจำของคนอายุเจ็ดสิบว่า

“ในโรงบ่อนมีการพนันสองอย่างคือถั่ว และโป ถั่วเล่นกันอย่างกำตัด โดยเอามือกำถั่วจำนวนหนึ่ง (ถั่วนี้ต่อมาใช้เบี้ยแทน) ให้ลูกค้าทายเศษ คือแจงจำนวนถั่ว หรือเบี้ยที่ออกมาเป็นหน่วยละสี่ ถ้าเหลือเศษหนึ่งเรียกว่า ‘หน่วย’ เศษสองเรียกว่า ‘สอง’ เศษสามเรียกว่า ‘สาม’ ไม่มีเศษเลยเรียกว่า ‘ครบ’ มีเพียงสี่ประตูเท่านั้น เพื่อความสะดวกแก่ผู้เล่น เขาเขียนเลขที่ว่าลงบนแผ่นกระดาน วางไว้กลางวง เรียกว่า ‘กั๊ก’ ใครจะแทงประตูไหน ก็วางอัฐหรือเงินลงที่ช่องบนกั๊ก เมื่อพร้อมแล้ว เจ้ามือจะกำถั่วหรือเบี้ยจากกระจาดหรือถุงออกมาวาง แล้วก็แจง ถ้าเบี้ยน้อยมักใช้ถ้วยครอบ จะครอบไว้ก่อน หรือภายหลังการแทงของลูกค้าก็ได้ ก่อนเปิดเขามีสัญญาณบอกงดการแทงด้วยเสียงระฆังเล็ก ๆ ก็มี ด้วยการเคาะพื้นก็มี เมื่อเห็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเปิดถ้วยและแจงเบี้ยดังกล่าวแล้ว การแทงถั่ว นัยว่ามีวิธีแทง ๒ อย่างคือ ‘เลี่ยม’ และ ‘อ๋อ’ ถ้าแทงเลี่ยมถูก เจ้ามือใช้เงินต่อเดียว คือแทงเท่าไรก็ได้เท่านั้น ถ้าแทงอ๋อถูกเจ้ามือใช้ให้ ๓ ต่อ

ส่วนโปนั้น มีลูกสี่เหลี่ยมอย่างลูกเต๋า มีจุดแทนเลขประจำด้าน ตั้งแต่ ๑ ถึง ๔ ส่วนที่หัวและท้ายมีก้านสั้น ๆ กันมิให้โปเอาด้านนั้นขึ้น หรืออาจใช้หมุนอย่างลูกข่างแล้วเอาถ้วยครอบ หรือครอบไว้ก่อน แล้วขยับให้ลูกโปกลิ้งเพียงเล็กน้อย ล่อใจให้คนแทงมาก ๆ เมื่อแทงกันเรียบร้อยแล้วก็ค่อย ๆ เปิด เพื่อมิให้ลูกโปกระเทือนหรือพลิกตัว การแทงและการใช้เงินคงเหมือนถั่ว การพนันชนิดนี้ดู ๆ ก็ออกยุติธรรมดี ไม่น่าจะมีการเอาเปรียบกันได้เท่าไรนัก แต่พวกนักเลงเก่า ๆ บอกว่า บางทีเจ้ามือมีโปหลายลูก ถ่วงให้เลขนั้นหนักบ้าง เลขนี้หนักบ้าง เป็นการเอาเปรียบลูกค้า แต่ถ้าเผอิญไปเจอลูกค้าใจเย็น ๆ ช่างสังเกตเข้าหน่อย พอจับเค้าเจ้ามือได้แล้วจึงแทง เจ้ามือก็เจ้งไปได้เหมือนกัน ก็เพราะเหตุนี้แหละ ถั่ว และโปที่เล่นกันในโรงบ่อนมันจึงได้สนุก ในโรงบ่อนแห่งหนึ่ง ๆ มีถั่วและโปหลายวงเรียกว่า ‘เสื่อ’ เพราะเขาเอาเสื่อไปปูนั่งเล่น ถ้าเสื่อไหนตายมาก คือลูกค้าแทงถูกมากจนเจ้ามือเงินหมดถึงเจ้ามือต้องบอกเลิกเรียกว่า ‘โปล้ม’ ”

โรงบ่อนสมัยนั้น มีอยู่หลายโรง เช่นที่ตำบลหัวเม็ดเรียกว่า “บ่อนหัวเม็ด” ตำบลสะพานเหล็กก็มี “บ่อนสะพานเหล็ก” ตำบลสามเสนก็มี “บ่อนสามเสน” เป็นต้น แต่ละบ่อนก็มีเครื่องล่อใจต่าง ๆ ให้คนไปเที่ยวบ่อนกันมาก ๆ เช่น มีลิเก ละคร งิ้ว เพลง ฯลฯ มีให้ดูตลอดวันตั้งแต่สามโมงเช้าจนถึงสองยาม มีของขายตลอดเวลายิ่งกว่านั้น ใกล้ ๆ โรงบ่อนมักมีโรงยาฝิ่น สูบฝิ่นกันอย่างเปิดเผยสบายอารมณ์ไปเลย

สำหรับโรงหวย ก็เช่นเดียวกับโรงบ่อน หัวหน้านายอากรที่ผูกขาดการออกหวยจากรัฐบาลเรียกว่า “ขุนบาล” เจ๊สัวหง เป็นผู้ริเริ่มออกหวยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๘ ตั้งโรงอยู่ที่หน้าวังบูรพาภิรมย์เดี๋ยวนี้ เจ๊สัวหงออกหวยเวลาเช้า ต่อมาพระศรีวิโรจน์ (ดิศ) เห็นเจ๊สัวหงมีกำไรมาก ก็ขออนุญาตตั้งอีกโรงหนึ่งที่บางลำภู ออกหวยเวลาค่ำ หวยจึงมีเป็น ๒ โรง เรียกว่าโรงเช้า และโรงค่ำ

ตัวหวยใช้อักษรไทย แต่ตัดบางตัวออกเสีย เหลือเพียง ๓๖ ตัวการเรียกชื่อตัวอักษรเรียกเป็นภาษาจีน เช่น ก. เรียก “กอสามหวย” ง. เรียกว่า “งอชีเกา” เรียกว่า “ฮอเจี๊ยะศูนย์” เป็นต้น เล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง งอชีเกา อันมีสัญชาติเดิมเป็นโจรหน้าดำ เล่นไม่ซื่อต่อขุนบาล ไปเข้าฝันคนแทง บอกคนแทงถูกมาก ขุนบาลเลยตัดงอชีเกาออกเสีย เลยเหลือเพียง ๓๕ ตัว การแทงหวย แทงได้ตั้งแต่ตัวละเฟื้องขึ้นไป ถ้าแทงมากก็ถึงตัวละ ๔๐ บาท ตามริมถนนหลวง หรือริมแม่น้ำลำคลอง และตามที่ชุมนุมชนต่าง ๆ เวลาเย็น ๆ พวกเสมียนเขียนหวยจะเอาโต๊ะไปตั้งรับแทงหวย เมื่อใครแทงเท่าไรก็ออกหลักฐานให้ เรียกว่า “โพย” ถ้าแทงถูกก็นำโพยมารับเงินที่โต๊ะซึ่งตนแทง เสมียนเขียนหวยจะจ่ายเงินให้ ๓๖ ต่อ แต่หักค่าน้ำเสีย ๒ ต่อ คงจ่าย ๓๔ ต่อ ค่าน้ำเห็นจะเป็นส่วนของเสมียน พอใกล้เวลาหวยออก ที่โรงหวยจะตีกลองเรียกโพย เรียกว่า “โบ๊โล๊ะ” เสมียนเขียนหวยจะต้องรีบนำโพยไปส่งขุนบาล พอได้เวลาขุนบาลก็มักเชิญท่านผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่มาชักถุงซึ่งบรรจุตัวอักษรที่จะออก ถุงนั้นแขวนอยู่หน้าโรง ตอนชักถุงเรียกว่าหวยออก ตอนนี้มีคนมายืนออกันแน่นเพื่อฟังผล คนที่อยู่ไกลถึงอุตส่าห์มานอนค้างตามโรงแรมหน้าโรงหวยเลยก็มี ดังนั้นร้านค้าหน้าโรงหวยข้างบนจึงมักเป็นโรงแรม สมมติว่าแทงถูก ต้องการแทงอีกโดยเอาเงินที่ถูกแทงหวยที่จะออกต่อไปทั้งหมด ก็ไปบอกเสมียนเขียนหวย เสมียนก็ออกโพยให้ แทงดังนี้เรียกว่า “หู้เต็มปี้ขา” การออกหวยนั้น บางทีโรงเช้าและโรงค่ำออกตัวเดียวกันก็มี ถ้าหวยออกอย่างนี้เรียกว่า “หวยเชิด” ต่อมาภายหลัง หวยโรงค่ำของพระศรีวิโรจน์ดิศจัดการไม่ดี เกิดขาดทุนก็เลยเลิก คงเหลือแต่โรงของเจ๊สัวหงโรงเดียว เจ๊สัวหงเห็นมีคนนิยมเล่นหวยมาก ก็เลยถือโอกาสออกตอนค่ำด้วยเป็น ๒ เวลาในวันหนึ่ง

การเล่นหวยเป็นเหตุให้เกิดอาชีพขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือการเป็นหมอหวยหรืออาจารย์หวย เป็นผู้ทำนายว่า หวยจะออกตัวอะไร แต่ไม่ทำนายตรง ๆ มักพูดหรือแสดงกิริยาอาการเป็นปริศนาให้นักเลงแทงหวยไปคิดเอาเอง จึงเรียกกันว่าใบ้หวย บางทีก็ทำความเดือดร้อนให้แก่พระพุทธรูปบ้าง เสาโบสถ์วิหารบ้าง ต้นไม้บ้าง เพราะถูกนักเลงแทงหวยไปขัดไปถูจนกว่าจะเห็นหวยขึ้นมา ถ้าเผอิญใครไปแทงถูกเข้า ก็มีการเซ่นไหว้ต่าง ๆ เพราะเหตุนี้เอง ศาลเจ้าในกรุงเทพฯ จึงได้มีมากต่อมากอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม การเล่นการพนันดังกล่าวนี้ไม่มีคุณ มีแต่ทางทำให้คนฉิบหาย บางคนถึงกับขายลูกเมีย ขายตัว ขายบ้าน ขายไร่นาเอาเงินมาเล่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดให้ประกาศเลิกเล่นให้หมดสิ้น ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๕๙ เป็นต้นมา

เมื่อ ๕๐ ปีก่อน กรุงเทพฯ ไม่กว้างขวางใหญ่โตเหมือนทุกวันนี้ กรุงเทพฯ สมัยนั้นแคบและยาวไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จัดว่าอยู่ในเขตที่เจริญ เริ่มตั้งแต่แถวปากคลองบางลำภู ล่องลงไปทางใต้และตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงถนนตก บริเวณที่มีคนอยู่หนาแน่นที่สุด และเจริญที่สุด ไม่มีที่ไหนเกินหน้าไปกว่าสำเพ็ง อันเป็นถิ่นที่มีคนจีนอยู่มากไกลออกไปทางเหนือต่อจากปากคลองบางลำภูออกไป และทางทิศตะวันออกเมื่อเลยเขตนางเลิ้งไปแล้วเป็นสวนผลไม้หรือไม่ก็เป็นทุ่งนาโดยมาก เล่ากันว่า ถ้าต้องการเข้าป่าล่าสัตว์ละก็ ไม่ต้องถ่อร่างแบกสังขารไปไกลนักหรอก แถว ๆ ทุ่งสามเสน และบางซื่อนี่ก็พอมีเก้งมีกวางให้ยิงแล้ว ริมคลองมหานาคตรงบริเวณสะพานมหาดไทยอุทิศ ตลอดไปจนถึงนางเลิ้ง เวลาหน้าน้ำน้ำมาก พายเรือไปเที่ยวที่ทุ่งภูเขาทองได้สบาย ที่ทุ่งภูเขาทองเขาว่า ในบรรดาขนมจีนน้ำพริกกับข้าวเม่าทอดด้วยกันแล้ว เป็นไม่มีที่ไหนอร่อยเท่า และยิ่งมีแม่ค้าหน้าหวาน ๆ ร้องขายเป็นเพลงเป็นกลอน สำเนียงไพเราะเพราะพริ้งดุจจะเย้ยเสียงระฆังวัดสระเกศให้ได้อายด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มรสให้โอชาได้ดีพิลึก เสียงร้องขายขนมของแม่ค้าทุ่งภูเขาทอง เด็ก ๆ ในสมัยนั้นจำเอามาร้องกันออกขรมถมเถไป นอกจากทุ่งภูเขาทองจะมีแม่ค้าขนมจีนน้ำพริก และแม่ค้าข้าวเม่าหน้าหวานเสียงเพราะแล้ว ทุ่งภูเขาทองยังเพิ่มรสสนุกให้แก่นักพายเรือตากลมเล่นอีกอย่างหนึ่งคือต้นบัว ซึ่งมีอยู่มากมาย มักจะถอนเก็บเอาไปฝากแกมอวดคนที่ไม่ได้ไปทางบ้าน ว่าฉันได้ไปถึงทุ่งภูเขาทองแน่ะ ฝ่ายคนทางบ้านนั้นแม้จะไม่ได้บอกว่าไปไหนมาไหนก็ตาม พอเห็นสายบัวดอกบัวเข้า จะลืมตาโพลงทีเดียว “ต๊าย ตาย ไปถึงภูเขาทองเชียวเรอะ ทีหลังอย่าได้บังควรไปเชียวนา ไกลออกอย่างนั้น”

ในคลองมหานาค มีแพจอดเป็นระยะ ๆ ส่วนมากก็ขายเครื่องชำ แล้วใช้เป็นที่อยู่ไปในตัวด้วย แพดั่งกล่าวนี้ ตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาจอดเป็นทิวแถวไปทีเดียว เดี๋ยวนี้ก็คงมีบ้าง แต่เห็นจะน้อย ที่น้อยลงไปหรือที่ไม่มีใครจะอยู่แพอย่างแต่ก่อนก็คงจะไม่ใช่เรื่องอื่น นอกจากทนลูกละลอกของเรือสมัยนี้ไม่ไหวนั้นแหละเป็นใหญ่ เล่ากันว่า ยังมีเศรษฐีเจ๊กนายหนึ่ง คิดจะอวดความมั่งมี หรือคิดจะสบายยังไงก็ไม่ทราบ อุตริสร้างเรือขนาดใหญ่ลำหนึ่ง มีชั้นตั้ง ๒–๓ ชั้น ทอดสมอลอยอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงท่าหน้าวัดจักรวรรดิฯ เดี๋ยวนี้ ต่อมาตะแกจะเบื่อเรือขึ้นมาหรือยังไงก็ไม่รู้อีกนั่นแหละ จึงเปลี่ยนสภาพเรือประหลาดลำนั้นเป็นโกดังเก็บน้ำมันก๊าด และใช้เป็นร้านค้าขายน้ำมันก๊าดไปพร้อมกันในตัว วันหนึ่ง เศรษฐีเจ๊กผู้เจ้าของเห็นน้ำมันก๊าดขายดีเป็นบ้า ถังเก็บน้ำมันเล็กไปเสียแล้ว ก็ไปเจาะถ่ายถังน้ำมันเพื่อจะทำให้จุมากปีบขึ้นไปอีก ครั้นเจาะเสร็จคราวนี้ถึงทีจะอุด ตะแกเอาคอแร้งสำหรับบัดกรีเผาเสียแดงเป็นไฟ แตะตะกั่วหยอดลงไปตรงรูที่ต้องการอุด เจ้ากรรมเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ไฟลุกพรึบติดน้ำมันไหม้เรือ ไฟแดงไปทั้งลำแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่แต่เท่านั้น น้ำมันจากเรือยังไหลลงน้ำไฟติดลอยเป็นสาย ๆ ต้องเดือดร้อนถึงแพริมน้ำอีก เพราะเจ้าของก็กลัวไฟที่ไหลมากับน้ำมันจะลุกไหม้แพตนเข้า เจ้าของพร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ออกสะกัดกั้นไฟสายน้ำกันเป็นจ้าละหวั่น เสียงโจษ เสียงร้อง เสียงตะโกน ประสานไปกับเสียงถังน้ำมันระเบิดตูม ๆ เป็นระยะ สรุปแล้ว เรือหลายชั้นลำประหลาดของเศรษฐีเจ๊กคนนั้นกลายเป็นเรือดำน้ำลำแรกแห่งท้องน้ำเจ้าพระยาไปโดยสวัสดิภาพ ส่วนตัวเจ้าของเรือ คืนนั้นเห็นจะนอนไม่หลับคงกระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เพราะเสียดายเรือ ไม่ใช่เพราะเสียดายน้ำมันก๊าดซึ่งกำลังขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่เป็นเพราะถูกเจ้าของแพริมน้ำด่าพ่อล่อแม่เสียถึงใจพระเดชพระคุณไปเลย

สมัยโน้น ถ้าใครนำรถม้าไปถึงสะพานเทเวศร์ได้ ก็เห็นกันว่าไปไกลโขทีเดียว สะพานเทเวศร์สมัยนั้นยังไม่ได้สร้างถนนสามเสนไปสุดลงตรงคลองผดุงกรุงเกษมตรงวัดนรนารถ แล้วมีถนนตัดเลียบคลองไปทางตะวันออก การตัดถนนสายนี้ ขั้นแรกก็ต้องการเพียงเพื่อให้สะดวกแก่การไปวัดมกุฎกษัตริย์เท่านั้น ส่วนถนนที่ต่อจากนั้นออกไป เกิดขึ้นเพราะความจำเป็นทีหลัง สำหรับสะพานเทเวศร์สร้างขึ้นเมื่อคราวจะสร้างพระราชวังดุสิต การต่อถนนบำรุงเมืองจากสะพานยศเสคือสะพานกษัตริย์ศึกเดี๋ยวน[นี้] ก็เพื่อเป็นถนนสำหรับไปวัดสระประทุม คือวัดปทุมวนารามเดี๋ยวนี้ และเพื่อไปวังใหม่ซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่ประทับร้อนของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ การไปวัดสระประทุมหรือวังใหม่สมัยนั้นเท่า ๆ กับไปบ้านนอก ถ้าไปด้วยรถม้าก็ต้องคดเคี้ยวอ้อมโลกไปหลายแห่งเพราะถนนยังมีไม่มาก และต้องมีม้าเทียมรถล่วงหน้าไปคอยผลัดกลางทาง มิฉะนั้นม้าเหนื่อยตาย และต้องเตรียมอาหารกลางวันไปกินด้วย เพราะทั้งไปและกลับจะต้องเสียเวลาทั้งวัน อย่าว่าแต่วัดสระประทุมหรือวังใหม่เลย แม้แต่ห้าแยกพลับพลาไชยเดี๋ยวนี้ก็ยังดูกันว่าไกลถนัดใจทีเดียว และห้าแยกพลับพลาไชยนี่เอง เคยใช้เป็นที่สำหรับประหารชีวิตคนมาแล้วมากต่อมาก

คราวหนึ่ง ที่ห้าแยกพลับพลาไชยใช้เป็นที่ประหารชีวิตผู้ร้ายจีนสำคัญซึ่งถูกจับส่งมาจากเมืองจันทบุรีคนหนึ่ง นามกรว่า อ้ายทองแดง ในวันที่ประหารชีวิต มีคนแตกตื่นไปดูกันมาก ด้วยว่าอ้ายทองแดงคนนี้ชื่อเสียงมันโด่งดังเลื่องลือกันนัก เฉพาะอย่างยิ่งพวกฝรั่งต่างชาติก็ควงแหม่มนั่งรถม้าไปดูเขาประหารอ้ายทองแดงกันด้วย ฝรั่งและแหม่มพวกนี้สะพายกล้องเตรียมจะไปฉายรูปอ้ายทองแดง และตะแลงแกง จะเอาไว้ดูเป็นที่ระลึก หรือจะเอาไปทำไม หาทราบไม่ บริเวณที่ประหารอยู่ตรงชายร่มต้นกร่างใหญ่ต้นหนึ่ง มีผู้คนปีนขึ้นบนกร่างต้นนั้น และต้นไม้อื่น ๆ รอบ ๆ และดูยั้วเยี้ยกันไปหมด บางคนก็ต้องการจะดูให้ถนัดตาสักทีด้วยดูข้างล่างไม่เห็น คนมันนั่งเสียหมด แต่พวกฝรั่งนางแหม่มขึ้นไปตั้งกล้องเตรียมฉายรูปเป็นที่โก้หร่านนัก ที่ว่าโก้หร่าน ก็เพราะคนไทยส่วนมากไม่ค่อยได้เห็นฝรั่ง และไม่ค่อยได้เห็นกล้องฉายรูป ก็ได้ดูได้ชมกันเป็นที่เพลิดเพลินฆ่าเวลาคอยการประหารอ้ายทองแดงได้ดีพอใช้ พอได้เวลาเขาก็พาอ้ายทองแดงมา ที่ใกล้ ๆ นั้นเขากั้นม่านไว้สำหรับเป็นที่แต่งเนื้อแต่งตัวของเพชฌฆาต ก่อนจะลงมือประหาร เขานิมนต์พระมาเทศน์ให้อ้ายทองแดงฟังกัณฑ์หนึ่ง พอเทศน์จบก็ให้อ้ายทองแดงกินเลี้ยง เลี้ยงด้วยอาหารอย่างดีเป็นพิเศษ ด้วยเป็นมื้อสุดท้ายสำหรับมัน เห็นจะเป็นการไว้อาลัยด้วย เพราะจะไม่มีโอกาสได้กินอีกต่อไปแล้ว เสร็จจากกินเลี้ยงก็รับขมา จากนั้นเขาก็นำอ้ายทองแดงไปมัดไว้กับหลัก เอาดินเหนียวอุดหูมันเสีย แล้วก็ทำพิธีสะกด พอได้เวลา เพชฌฆาตร่างกายกำยำนุ่งแดงห่มแดงล้วน ดูเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัว น่าเกรงขาม ถือดาบคมกริบเป็นเงาต้องแสงแดดเป็นประกายแว๊บวับน่าสะพึงกลัว การปรากฏตัวของเพชฌฆาต ไม่ใช่พรวดพราดก้าวออกมาเฉย ๆ แต่รำป้อมาทีเดียว ตอนนี้คนดูก็เบียดเสียดเยียดยัดเฮโลเข้าไปจะดูให้ใกล้ ๆ ทั้ง ๆ ที่ใจคอก็ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว เห็นเขาเฮก็เฮตาม บางคนเฮกับเขาไม่ไหว เป็นลมล้มพับไปเสียก่อนก็ถมไป ฝ่ายพญาเพชฌฆาตหน้าตาเหมือนยักษ์ ก็รำยักไปเยื้องมาตามประสาคนมีอาชีพฆ่าคน ข้างพวกพลตระเวนเห็นจะเหนื่อยกว่าพวกอื่นหมด เพราะยิ่งห้ามคนมันก็ยิ่งไม่เชื่อ ยิ่งกั้นเท่าใดคนมันยิ่งโหมกันมาเท่านั้น ว่ากันชุลมุนชุลเกไปหมด พอเพชฌฆาตหมดสิ้นกระบวนรำตามที่ร่ำเรียนมาแล้ว คนหนึ่งก็ย่องเข้าไปข้างหลังอ้ายทองแดง เงื้อดาบฟันฉับเข้าที่คอ คอหลุดกระเด็น เลือดพุ่งกระฉูดเป็นลำสูง ตอนนี้เอง บรรดานักดูเขาฆ่าคนก็มือเท้าอ่อน เป็นลมล้มสลบกับเยอะแยะ พวกที่อยู่บนต้นไม้ตกลงมาตุ้บตั้บ ๆ อ้ายพวกใจแข็งหน่อย โจษระเบ็งเซ็งแซ่ล้วนเป็นเรื่องฆ่าอ้ายทองแดงกันทั้งนน[นั้น] ทันใดนั้น ประชาชนก็ผละความสนใจจากอ้ายทองแดงไปชั่วคราว ต่างพากันหันไปดู ฝรั่งอุ้มแหม่มซึ่งเป็นลมตกต้นไม้ลงมาไหล่ยังสะพายกล้องอยู่เลย แต่จะฉายรูปไว้ได้หรือเปล่า ไม่มีใครทราบ

ขอบคุณข้อมูลจาก https://goo.gl/irzH78