เลียะพะ! ความร้าวฉานไทย-จีน


เมื่อตอนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง คำจีนที่ว่า “เลียะพะ” ซึ่งแปลว่า “จับและตี” หมายถึงการกลุ้มรุมทำร้าย เป็นคำที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทย คนไทยที่เข้าไปเดินในย่านคนจีน เมื่อได้ยินเสียงคนร้องขึ้นว่า “เลียะพะ!” ก็ต้องวิ่งกันทันที มิฉะนั้นก็จะโดนเลียะพะ

ทั้งนี้เกิดจากคนจีนมีความโกรธแค้นญี่ปุ่นอย่างมาก และหลายคนก็โกรธแค้นมาถึงรัฐบาลไทยที่ร่วมรบกับญี่ปุ่น ประกอบกับได้รับการยุยงจากหน่วยใต้ดินของก๊กมินตั๋งในไทย ว่าจีนเป็น ๑ ใน ๕ ชาติมหาอำนาจที่ชนะสงครามในครั้งนี้ จอมพลเจียงไคเช็คกำลังจะส่งทหารเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย ทำให้คนจีนกลุ่มหนึ่งฮึกเหิม โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ขุ่นเคืองการปฏิบัติของตำรวจไทย หวังจะได้แก้แค้น แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งทหารอังกฤษเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย ส่วนทหารก๊กมินตั๋งปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนเท่านั้น ทำให้คนกลุ่มนี้ผิดหวังอย่างมาก

ในคืนวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๘๘ เป็นเทศกาลไหว้พระจันทร์ ผู้คนไปเที่ยวเตร่แถวเยาวราชกันแน่น ราว ๒ ทุ่มได้มีทหารอังกฤษกลุ่มหนึ่งไปนั่งกินเหล้าในร้านแห่งหนึ่ง แสดงอาการสนุกสนานกันเต็มที่ เอาธงชาติจีนขึ้นมาโบก จึงมีคนมายืนมุ่งดูกันแน่นถนน เผอิญรถสามเฉี่ยวชนคนจีนคนหนึ่งเข้า จึงเกิดมีปากเสียงทะเลาะกัน คนจีนกลุ่มหนึ่งได้กลุ้มรุมทำร้ายคนขี่สามล้อซึ่งเป็นคนไทย ตำรวจเข้าระงับเหตุก็ถูกรุมทำร้ายด้วย สถานีตำรวจพลับพลาไชยได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมอาวุธไป ๑ คันรถ เกลี้ยกล่อมให้ฝูงชนสลายตัว แต่ไม่มีใครเชื่อฟังและยังโยนประทัดเข้าใส่ ตำรวจจึงยิงปืนขึ้นฟ้าแล้วถอยกลับโรงพัก ทางรัฐบาลได้ส่งทหาร ตำรวจ และยุวชนทหารซึ่งมีบทบาทสำคัญตอนสงครามไปรักษาการณ์ ใช้รถถังวิ่งตรวจไปตามถนนเยาวราช เจริญกรุง จนถึงหัวลำโพง ฝ่ายที่ก่อจลาจลได้แอบอยู่ในตึกแถวข้างถนนยิงลงมา เกิดการยิงตอบโต้กัน จนร้านค้าทั้งย่านต้องปิดหมด

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๑ การจลาจลได้กระจายออกไปตามย่านที่มีคนจีนอยู่ เช่น เจริญกรุง บางรัก หัวลำโพง และบางลำพู มีโปสเตอร์เป็นภาษาจีนติดอยู่หลายแห่ง ปลุกปั่นคนจีนให้ทำร้ายคนไทย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก๊กมินตั๋งในไทย และมีคนเข้าพักในโรงแรมย่านเยาวราชมากผิดปกติ มีข่าวลือว่าคืนนี้จะมีการก่อจลาจลขั้นรุนแรง ทางราชการได้เตรียมรับมืออย่างเต็มที่ จนราว ๒ ทุ่มเสียงปืนก็ดังไปทั่ว มีบาดเจ็บล้มตายกันหลายคน และมีกลุ่มอันธพาลเข้าผสมโรงบุกเข้าปล้นร้านค้าคนจีนย่านเยาวราช กวาดทรัพย์สินไปได้มาก

รุ่งขึ้นเช้าวันที่ ๒๒ ทหารตำรวจได้จู่โจมเข้าเคลียร์พื้นที่ที่มีการปะทะ จับกุมผู้ต้องสงสัยไปได้หลายคน แต่ก็ยังมีการยิงตอบโต้เป็นระยะ จนตกบ่ายเสียงปืนจึงค่อยหายไป

ในวันที่ ๒๓ “สมาคมคังเจี้ยน” ซึ่งเป็นองค์กรของก๊กมินตั๋งในไทย ได้ปิดประกาศเรียกร้องให้คนจีนปิดตลาด ซึ่งผู้ค้าต่างปฏิบัติตามเพราะกลัวการคุกคาม แต่เจ้าของตลาดเก่าเยาวราชได้ระดมแม่ค้าพ่อค้าจากที่อื่นมาขายแทน และส่งคนเข้าคุ้มครองคนขาย ผู้คนในย่านนั้นจึงมีที่จับจ่ายกับข้าวได้

ในวันเดียวกันนี้สหสมาคมต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พี่น้องไทย-จีนช่วยกันถนอมไมตรีที่มีมาช้านาน อย่าหลงกลผู้ไม่หวังดียุแหย่ให้เกิดความแตกร้าวขึ้นในชาติ รัฐบาลได้จัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคงไทย-จีนขึ้น มี พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ เป็นหัวหน้า และรักษาความสงบข้ามไปปี จนในวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๘๙ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เซ็นสัญญาสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน กับนายหลีเทียะเจิง เอกอัครราชทูตจีน กองกำลังผสมนี้จึงเลิกไปตามเสียง “เลียะพะ!” ด้วย

ต่อมาในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ เวลา ๐๙.๐๕ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จเยี่ยมสำเพ็ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีพระมหากษัตริย์เสด็จเยี่ยมสำเพ็งอย่างเป็นทางการ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทอย่างช้าๆ ไปบนพรมที่บรรดาพ่อค้าจัดปูลาดไปตลอดความยาวของถนนสำเพ็ง และประดับด้วยซุ้มดอกไม้ ธงทิว แพรผ้า หน้าร้านค้าต่างตั้งโต๊ะมุกเครื่องบูชา และเฝ้ารับเสด็จตลอดเส้นทางพระราชดำเนิน ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรที่รอเข้าเฝ้าตามทางเป็นระยะ และเสด็จฯเข้าประทับในบางร้าน สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงเป็นช่างภาพกิตติมศักดิ์ ทรงเปิดโอกาสให้ชาวจีนได้เข้าเฝ้าแทบละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด ทรงรับของที่ระลึกด้วยพระหัตถ์จากร้านหนึ่งไปยังอีกร้านหนึ่ง ทรงใช้เวลาเสด็จเยี่ยมสำเพ็งครั้งนี้ถึง ๔ ชั่วโมง จากนั้นได้เสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่สมาคมไทย-จีน ถนนสาทร ตามคำกราบบังคมทูลของบรรดาพ่อค้าจีน และทอดพระเนตรการละเล่นต่างๆก่อนเสด็จกลับ ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นล้นพ้น

จากนั้นความสัมพันธ์ของคนในชาติก็สนิทเป็นเนื้อเดียวกันดังเดิม

ชมภาพประวัติศาสตร์ ปี พ.ศ.2489 การเสด็จสำเพ็ง