ไอเดียเก๋ไม่ซ้ำใคร! เค้กมะพร้าวไส้แตก แหวกตลาด ทำรายได้หกหลักต่อเดือน


เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเลย! สำหรับธุรกิจขายขนม ที่เริ่มต้นจากการทำงาน และริเริ่มด้วยตัวเองทั้งหมด

จุดเริ่มต้น ที่ได้มาทำธุรกิจเบเกอรี่ เพราะต้องออกจากงานประจำที่ทำอยู่มาตลอด 10 ปี และจากความหลงใหลในคุณประโยชน์ของมะพร้าว โดยใช้ความชอบการทำขนมมาสร้างสรรค์ ใส่ไอเดีย และต่อยอดจากสิ่งที่หลงใหล สู่การทำเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้หกหลักต่อเดือน จนขยายตลาดส่งเบเกอรี่ขายในห้าง และมีพาร์ตเนอร์ในการทำเบเกอรี่ขายได้

เพราะต้องออกจากงานจึงได้เริ่มต้นขายขนม

คุณเสน่หา ชูสันติ หรือ คุณเอี่ยว อายุ 35 ปี เจ้าของร้านเบเกอรี่ แบรนด์ Bakery Mind by Aeiw เล่าให้ฟังว่า “เริ่มต้นจากตอนทำงานประจำ เป็นแมเนเจอร์ด้านงานประกันโทรศัพท์ มากว่า 10 ปี โดยมีความคิดว่าอยากมีธุรกิจส่วนตัวอะไรสักอย่างหนึ่งมาตลอด พยายามมองช่องทาง หาว่ามีรูปแบบที่จะสามารถทำได้ยังไงบ้าง ช่วงก่อนที่จะต้องได้ออกจากงานตอนนั้นคุณพ่อเสีย ช่วงนั้นเราก็คิดว่าจะซื้อเครื่องชงกาแฟ กับเตาอบเล็กๆ มาลองทำขนม เพื่อแก้เหงา และทำควบคู่ไปกับการทำงานประจำ

การทำเบเกอรี่เริ่มจากการศึกษาจากยูทูบ ว่ามีอะไรที่เราพอจะสามารถทำได้บ้าง ก็ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนมาลองทำเค้กมะพร้าว เพราะด้วยความชอบมะพร้าวของเรา ชอบประโยชน์ ชอบความกลมกล่อมของมะพร้าว จึงเริ่มต้นลองทำเค้กมะพร้าว จากการเริ่มทำเค้กมะพร้าวในครั้งแรก มันสามารถรับประทานได้ ด้วยรสชาติต่างๆ ที่เราทำ ก็เลยลองเอาไปแบ่งในเพื่อนๆ ทาน พอเพื่อนๆ ได้ลองชิม เขาก็บอกว่าอร่อย ให้ลองทำเอามาขาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ หลังเลิกงานก็มีการทำเบเกอรี่เล็กๆ น้อยๆ ทำไปขายให้กับเพื่อนร่วมงานในบริษัท ทำไปได้ 2-3 เดือน ก็เกิดมีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องออกจากงาน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องหันมาทำเบเกอรี่อย่างเต็มตัว”

จากวันที่ต้องได้ออกจากงานและมาเริ่มต้นทำเบเกอรี่ขายก็เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว คุณเอี่ยว บอก

“โดยโจทย์ง่ายๆ ของคุณเอี่ยว คือเมื่อออกจากงานประจำแล้ว จะทำอย่างไรก็ได้ให้มีรายได้ชดเชยกับงานประจำที่เคยทำก่อนหน้านี้ ซึ่งมีรายได้ที่ค่อนข้างสูงพอสมควร พอเริ่มต้นทำธุรกิจเบเกอรี่ในช่วงแรก จึงเป็นการเริ่มต้นทำขนมอยู่ภายในครัวที่บ้าน โดยทำเอง ส่งเอง ขายเองทุกอย่าง ทุกขั้นตอน ทำอยู่อย่างนี้มาเกือบปี ด้วยเพราะไม่อยากมีต้นทุนใดๆ จนถึงระดับที่ว่าพอจะมีลูกค้า และได้รับการตอบรับจากลูกค้าบ้างแล้ว แต่ตอนนั้นยังทำเป็นเค้กมะพร้าวทั่วๆ ไป โดยการอบใส่ฟอยล์ หน้าตาเค้กก็ทั่วไปอยู่ พยายามทำรูปแบบเค้กอยู่หลายอย่างมาก เช่น เค้กส้ม เค้กช็อกโกแลต ก็ลองทำหมด ที่คิดว่าจะสามารถทำรายได้ชดเชยกับเงินเดือนที่เคยได้รับ

พอผ่านช่วงตรงนั้นมา 1 ปี เราก็ได้คิดอย่างหนึ่งว่า จำเป็นจะต้องขยายช่องทางเพิ่มเติมแล้ว ด้วยเพราะ ทำคนเดียวมันหนักเกินไป หนักจนที่เรียกว่าไม่สนุกกับการทำขนมอีกแล้ว เพราะว่าออร์เดอร์เกินกำลังของเราแล้ว จึงจำเป็นต้องหาคนมาช่วยทำ และต้องขยายตลาดเพิ่มแล้วด้วย จึงมองหาทำเลการเปิดเป็นหน้าร้าน และความฝันของคนทุกคนที่ทำขนมก็อยากจะมีคาเฟ่ ซึ่งก็เช่นกัน ก็อยากเปิดร้านคาเฟ่ แต่ด้วยการทำคาเฟ่ อาจจะไม่ถูกจริตกับสิ่งที่เราทำ รอลูกค้ามานั่งร้าน ซึ่งมันไม่เวิร์กสำหรับเรา เพราะชอบการวิ่งหาลูกค้าเองมากกว่า จึงไปมองตลาดอยู่ที่กลุ่มลูกค้าร้านกาแฟ ร้านอาหาร โดยการเอาตู้ขนมของเราลงไปตั้งและฝากขาย ซึ่งขณะที่วิ่งหาร้านขายส่ง ร้านคาเฟ่ของเราก็ยังทำอยู่ควบคู่กันไปด้วย จนเจ้าของที่ เขาก็อยากได้ที่ตรงนั้นคืน จึงบีบให้เราออกก่อนสัญญา”

จุดเริ่มต้นและการเปลี่ยนรูปแบบ

ร้านขนมใหม่ ไฉไลกว่าเดิม

เมื่อโดนบีบจากเจ้าของที่ ก็จำเป็นต้องปิดร้านเบเกอรี่นั้นลงไป คุณเอี่ยว เธอจึงได้เล่าว่า “หลังจากที่ปิดร้านลง ก็ได้มีโอกาสเดินทางไปทำธุรกิจที่หนองคาย เปิดขายเบเกอรี่เป็นร้านแบบ Take home ปรากฏว่าผลตอบรับดี และได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดด้วย พอช่วงปลายปีที่แล้วจึงได้โอกาสทำร้านแบบ Take home ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการขยายตลาดเพิ่มจากการที่ขายส่ง มามีหน้าร้านเป็นของตนเอง อยู่ที่ซอยราษฎร์บูรณะ 29 และปัจจุบันมีตู้ขายเบเกอรี่อยู่ในเซ็นทรัลเวสต์เกต และเซ็นทรัล สาขาแจ้งวัฒนะ ในอนาคตอันใกล้ ก็มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่ม”

เน้นไปที่การทำตลาดขายออนไลน์ มีตัวแทนจำหน่าย และรูปแบบหน้าร้านแบบ Take home

“ที่เน้นไปทำการขายบนตลาดออนไลน์ เป็นเพราะเจอปัญหาที่ทำให้ต้องหยุดคิด เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ที่ทำขาย หนึ่งเลยคือ การที่ประหยัดต้นทุนมากเกินไปนั้น ทำให้ธุรกิจเราเติบโตช้าเกินไป ไม่คุ้มค่าเหนื่อย  สอง เราเลือกที่จะทำทุกอย่างให้มีรายได้ เลือกที่จะไปลงตู้ตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ โดยใช้วิธีการขายขาด มันทำให้เราขายเอกลักษณ์ ไม่มีแบรนด์ สาม คือ ร้านค้าบางร้านที่เอาขนมเราไปขาย เขาไม่ยอมดูแลขนมของเรา มันเลยไม่สด อร่อยเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อมาคิดทุกอย่างแล้ว มาคิดตัวเลข ระบบการจัดการทุกอย่างแล้ว มันไม่คุ้มเลย จึงคิดใหม่ว่า จริงๆ แล้ว ขนมเราควรสร้างแบรนด์ และสร้างตัวตนขึ้นมา มีไอเดียที่ใส่เข้าไป และมองไปที่การทำการตลาดบนออนไลน์เป็นหลัก จึงเกิดแบรนด์ชื่อว่า Bakery Mind by Aeiw”

โดยไอเดียที่คุณเอี่ยวใส่ลงไปในขนมของเธอนี้คือ เกิดจากการมองเห็นมะพร้าว และความชอบ หลงใหลในตัวมะพร้าว เธอจึงหยิบเอาลักษณะเด่นของมะพร้าวในแต่ละเรื่อง เช่น ลักษณะของลูกมะพร้าว น้ำมะพร้าว สีสันของมะพร้าว นำมาสร้างเรื่องราวบนเบเกอรี่ของเธอ ผ่านเบเกอรี่ทั้งหมด 6 ชนิดหลัก และได้กลายเป็นสินค้าซิกเนเจอร์ของแบรนด์

เบเกอรี่ 6 ชนิดหลักคือ 1. เค้กกะลา เป็นเนื้อใบเตย มะพร้าวครีมสด รูปลักษณ์ของมันคือเป็นเค้กที่อบไปทั้งกะลาเลย 2. เค้กมะพร้าวไส้แตก ซึ่งเป็นคัพเค้ก ไส้มะพร้าว เคลือบด้วยสังขยา 3. เครปพัฟ เป็นแผ่นเครป ที่ใช่ครีมสดน้ำมะพร้าวและไส้มะพร้าวลงไป 4. เค้กมะพร้าวกล่องฟอยล์ ซึ่งก็เอามาดัดแปลง แต่งหน้าเค้กเป็นหน้าหมี รสชาติจะเหมือนกับเค้กกะลา 5. เป็นคุกกี้น้ำมะพร้าว 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเลือกใช้น้ำมะพร้าวเอามาผ่านในกระบวนการทำ 6. ขนมจัดเลี้ยง/แนวเค้กวันเกิด โดยการนำเอาเค้กมาดัดแปลงเป็นรูปต่างๆ ให้มีความน่าสนใจ โดยใช้ประโยชน์จากมะพร้าวครบทุกสัดส่วน เอามาดัดแปลง ใส่ไอเดีย และขายความแปลกไม่เหมือนใคร เพราะโจทย์หลักของการทำเบเกอรี่นี้คือ ทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าเห็นขนมแล้วมีความสุข แล้วสนุกกับการได้ทานขนม ซึ่งสินค้า 3 ตัวแรก เป็นซิกเนเจอร์ของที่ร้าน

ด้านวัตถุดิบหลักอย่างมะพร้าวน้ำหอม คุณเอี่ยว เลือกใช้มะพร้าวน้ำหอมจากสวนที่ส่งออกไปขายยังสิงคโปร์ ซึ่งมะพร้าวก็จะค่อนข้างมีคุณภาพ

รายได้ หกหลักต่อเดือนขายเดือนละกว่า 3 หมื่นชิ้น

นอกเหนือจากการเปิดหน้าร้านรูปแบบ Take home ที่ปากซอยราษฎร์บูรณะ 29 และเซ็นทรัลแล้วนั้น ยังมีบริการดีลิเวอรี่ ซึ่งลูกค้าจะเสียเงินค่าจัดส่งตามระยะทาง

ยอดขายต่อเดือน ตามสัดส่วนที่ได้รับนี่ถือว่าดี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว อย่างสาขาในห้าง ยอดขายต่อเดือน 6  หลัก ส่วนสาขาหลักอย่างปากซอยราษฎร์บูรณะ 29 ซึ่งเป็นแหล่งรวมลูกค้าหลัก ยอดขายก็อยู่ที่ 6 หลักเช่นกัน

สำหรับยอดขายเบเกอรี่ที่ขายได้เฉลี่ยวันหนึ่ง 700 ชิ้น เดือนหนึ่ง 30,000 ชิ้น ซึ่งนับรวมเบเกอรี่ทุกประเภทที่ขายภายในร้านและสาขาตามห้าง แต่ยอดขายที่มีตัวแทนรับไปขายยังไม่ได้รวมในจำนวนนี้ เนื่องจากยอดขายของตัวแทนจะไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่ คุณเอี่ยว กล่าว

อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้คือ เหตุเพราะเกิดจากการติดปัญหาเรื่องการขนส่ง ลูกค้าปลีกในต่างจังหวัดจะไม่ได้ทานขนมของเรา ซึ่งมีมาถามบ่อยมาก เราก็เลยจัดโปรแกรม Bakery Mind Partner ขึ้นมา ลักษณะคล้ายแฟรนไชส์ แต่ความพิเศษคือ 1 จังหวัด ต่อ 1 คนเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของสาขา เมื่อตกลงจะทำร้านค้าร่วมกันแล้ว ก็จะมีการไปสอนวิธีการทำเบเกอรี่ให้ และให้สิทธิ์เจ้าของบริหารจัดการการตลาดด้วยตัวเองได้ ซึ่งตอนนี้ที่ใกล้จะเปิดแล้ว คือระยองและสมุทรปราการ

ซึ่งคุณเอี่ยว บอกว่า “ที่คิดทำได้เช่นนี้เพราะเคยเจอปัญหาต่างๆ มาก่อน เนื่องจากการที่ต้องเริ่มทำธุรกิจแบบ Born to be ด้วยตนเอง จึงมีภาพในหัว ซึ่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะสำเร็จหรือไม่ จึงต้องลองด้วยตนเองอย่างรอบคอบ ต้องติดต่อหาร้านค้าเอง วิ่งหาตลาด ทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด ทำให้ได้ประสบการณ์มาพอสมควร จึงทำให้คิดว่า หากใครที่อยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ เริ่มต้นได้จากครัวที่บ้านตนเอง แบบที่เราเคยทำมาก่อน ก็อยากสนับสนุนให้เขามีอาชีพ และงานทำ”

โดยแนวคิดการบริหารของคุณเอี่ยว กับการทำธุรกิจเบเกอรี่คือ เธอให้ความสำคัญกับฐานการผลิต ใส่ความเป็นเจ้าของให้กับพนักงานทุกคนในร้านที่มีกว่า 20 ชีวิต ให้เขามองว่า เป็นร้านของเขา งานของเขา เขาเป็นเจ้าของ เพื่อจะได้รักและทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำให้สินค้ามีคุณภาพ อีกข้อหนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับพนักงานขายหน้าร้าน ซึ่งเป็นด่านแรก จะต้องมีการสอนสคลิปการขาย การปิดการขาย การแนะนำลูกค้าต่างๆ เป็นการพัฒนาพนักงานได้ด้วย

สำหรับใครที่สนใจอยากได้ไอเดีย หรือสนใจแนวคิดการทำธุรกิจเบเกอรี่ไอเดียเก๋ ไม่ซ้ำใคร สามารถเข้าไปดูได้ที่ Facebook page : Bakery Mind by Aeiw หรือโทรศัพท์ (062) 463-649

ที่มา https://www.sentangsedtee.com/featured/article_34095