เลี้ยงกุ้งก้ามกรามใน”นาข้าว” เลี้ยงง่ายกำไรงาม ลงทุนหลักหมื่นกำไรหลักเเสน!!!


กุ้งก้ามกรามถือได้ว่าเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องด้วยคนเท่านิยมรับประทานกันมาก จึงทำให้กุ้งก้ามกรามมีราคาแพง สูงถึง 300 บาทต่อกิโลกรัม จึงทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรส่วนมากหันมาเลี้ยงกุ้งชนิดนี้มากขึ้น แต่มีปัญหาคือต้องใช้พื้นที่ในการทำบ่อเป็นจำนวนมาก และกับค่าอาหารที่มีราคาสูงจึงทำให้เกษตรกรหลายรายต้องหยุดการเลี้ยงกุ้งไปอย่างน่าเสียดาย

วันนี้ไข่เจียวนำวิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบใหม่มาฝากเพื่อนๆ เป็นเทคนิคใหม่ที่พึ่งได้มีการเปิดเผยกัน คือวิธีการเลี้ยงกุ้มก้ามกรามในนาข้าวซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกษตรกรได้ลดต้นทุนในส่วนของการขุดบ่อไป และ ภายในเนื้อหายังเผยสูตรอาหารและน้ำหมักปรับสภาพน้ำแีกด้วย จะเป็นยังไงนั้นไปชมกันเลยคะ

วิธีเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบอินทรีย์ในนาข้าว เป็นวิธีการเลี้ยงแบบลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี มีขั้นตอนดังนี้

 

1.ก่อนปลูกข้าวให้ทำการปรับพื้นที่ในนาข้าวให้มีความลึกขนาด/ประมาณ 80 เซนติเมตร

2.ซึ่งการทำแปลงนาจะสูงแตกต่างกันเป็นลำดับขั้น เช่น 60-70-80-90 เซนติเมตร จะง่ายต่อการไล่ระดับน้ำออกจากแต่ละบ่อ

3.เมื่อปรับพื้นที่ในนาข้าวได้ตามขนาดแล้ว ให้ทำการหว่านหรือปักดำนาข้าวได้ทันที

4.หลังจากที่ทำการหว่านและปักดำนาข้าวแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ให้นำกุ้งปล่อยลงในนาข้าวได้เลย

5.พื้นที่นาข้าวขนาด 1 ไร่ ปล่อยกุ้ง 20,000 ตัว ขนาดกุ้งที่ปล่อยประมาณ 2 เซนติเมตร

6.เมื่อปล่อยกุ้งลงนาข้าวแล้วในทุกๆ สัปดาห์จะมีการเติมน้ำลงไปจนเต็มเพื่อไล่น้ำที่เน่าเสียออกไป

สูตรอาหารเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

วัตถุดิบ

– รำละเอียด 1 กิโลกรัม

– ปลาป่น 2 ขีด

– น้ำมันพืช 1 ขวด

– กะละมังสำหรับผสมอาหาร 1 ใบ

วิธีทำ : นำส่วนผสมเทลงในกะละมังสำหรับผสมอาหาร จากนั้นคลุกเคล้าวัตถุดิบทั้งหมดเข้าหากันแล้วปั้นเป็นก้อน หรือถ้ามีเครื่องอัดเม็ดก็สามารถนำไปอัดเม็ดได้เช่นกัน ก็จะได้อาหารสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

การนำไปใช้: นำอาหารกุ้งก้ามกรามที่ผสมได้ ให้กุ้งกินในช่วงเวลาเช้าและเวลาเย็น

ประโยชน์ : สูตรอาหารกุ้งก้ามกรามจะช่วยให้กุ้งก้ามกรามเจริญเติบโตเร็ว แข็งแรง และช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้เป็นอย่างดี

สูตรน้ำหมักปรับสภาพน้ำเพื่อป้องกันโรคในกุ้ง

วัตถุดิบ

– สารเร่ง พ.ด.2 1 ซอง

ซากปลา ซากหอย 3 กิโลกรัม

– กากน้ำตาล 1 ลิตร

– น้ำ 2 ลิตร

– ถังพลาสติกสำหรับหมัก 1 ใบ

วิธีทำ : นำส่วนผสมเทลงในถังสำหรับหมัก คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน จากนั้นปิดฝาหมักทิ้งไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก็จะได้น้ำหมักปรับสภาพน้ำเพื่อป้องกันโรคในกุ้งก้ามกราม

การนำไปใช้ : นำน้ำหมักที่ได้ไปสาดลงแปลงนาหรือบ่อกุ้งก้ามกรามเท่าๆ กัน โดยใช้ในอัตรา 10 ลิตรต่อ 1 ไร่ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ประโยชน์ : ช่วยปรับสภาพน้ำและป้องกันโรคให้กับกุ้งก้ามกราม หลังจากปล่อยกุ้งก้ามกรามลงในนาข้าวได้ 3 เดือน ความเจริญเติบโตจะอยู่ที่ 3 กรัมต่อ 1 ตัว

เป็นยังไงกันบ้างคะเพื่อนๆ กับสูตรเด็ดการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามบอกเลยใครเลี้ยงก่อนรวยก่อนเพราะตอนนี้กุ้งกามกรามกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก รีบๆ กันหน่อยนะคะว่าที่เศรษฐี!!

ที่มาจาก : hotnewshotclip.com

อีกทริค..การเลี้ยง..กุ้งก้ามกราม

เมื่อเอ่ยถึง กาญจนบุรี สิ่งที่ทุกคนนึกถึงคงจะหนีไม่พ้นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ เช่น น้ำตกเอราวัณ น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น ฯลฯ ตลอดจนป่าไม้ธรรมชาติในเขตอุทยานฯ ซึ่งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้ที่ชื่นชอบความสงบ

กาญจนบุรี ถือเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดมีการทำเกษตรกรรมที่หลากหลาย เช่น ปลูกผัก ทำไร่อ้อย ตลอดจนการทำนา ฯลฯ และมีทำการประมง คือเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำแม่กลอง และยังมีบางพื้นที่เลี้ยงกุ้งอีกด้วย

คุณอรอนงค์ ธนพันธุ์ภูวเดช อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 13 ตำบลรางหวาย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี อีกหนึ่งเกษตรกรผู้ที่เคยปลูกพืชไร่ ผันชีวิตมาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จนเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เธอได้เป็นอย่างดี

เปลี่ยนจากไร่อ้อย ทำบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

คุณอรอนงค์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีอาชีพทำไร่อ้อย ด้วยปัญหาของราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงคิดหาทำการเกษตรด้านอื่นที่อาจสร้างรายได้ให้กับเธอได้มากขึ้น

“สมัยก่อนทำไร่อ้อยเป็นอาชีพ รายได้ปีละครั้ง เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด พอดีมีคนที่อยู่แถวอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณฯ เข้ามาเช่าที่ข้างๆ ที่เราทำไร่อ้อยอยู่ แต่เขามาเช่าเพื่อเลี้ยงกุ้ง ตอนนั้นเราเห็นเขาเช่าที่เยอะมาก ก็ไปดูเขาว่ามาทำแบบไหนยังไง เขาก็ถามเราว่า ทำอะไรอยู่ เขาก็แนะนำให้ลองมาเลี้ยงกุ้ง เราก็เลยมาศึกษากับเขาเพื่อทดลองดู” คุณอรอนงค์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงกุ้ง

ช่วงประมาณ ปี 2541 คุณอรอนงค์ บอกว่า ทดลองเลี้ยงประมาณ 2 บ่อ นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจสำหรับเธอ

“ปรากฏว่าดีมากในช่วงแรกที่ทำ ราคาก็ได้ดีด้วย กุ้งประมาณ 20 ตัว ต่อกิโลกรัม ได้ราคาประมาณ 180-200 บาท พอเรามาเปรียบเทียบดูระหว่างทำไร่อ้อยกับเลี้ยงกุ้ง กุ้งนี้น่าจะดีกว่ามาก แถมช่วงนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเลย เลี้ยงง่าย กุ้งแข็งแรงดี เป็นอาชีพที่ดีมาก” คุณอรอนงค์ กล่าวถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของเธอ

เลี้ยงกุ้งก้ามกราม ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเค็ม

คุณอรอนงค์ บอกว่า ในช่วงที่ทำบ่อเลี้ยงใหม่ๆ มีพื้นที่เท่าไหร่ก็จะขุดบ่อทั้งหมด แต่ขนาดที่เหมาะสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ขนาดบ่อประมาณ 4 ไร่

“เราต้องเอาที่ดินเราเป็นเกณฑ์ ว่าที่ดินเรามีกี่ไร่ แต่ถ้าจะดีสำหรับเลี้ยงกุ้ง ต้องประมาณ 4-5 ไร่ ความลึกประมาณ 1.50 เมตร ซึ่งบ่อใหม่ไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะว่ามันยังสะอาดอยู่ ไม่มีเรื่องโรคมากนัก แต่ถ้าพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงมาแล้ว ก็มีการเตรียมบ่อโดยโรยปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อ” คุณอรอนงค์ อธิบายการเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยง

คุณอรอนงค์ บอกว่า น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งเป็นน้ำที่ได้จากคลองชลประทาน ค่อนข้างมีความสะอาด ทำให้เธอไม่ต้องกังวลกับเรื่องน้ำ จากนั้นจึงไปหาซื้อลูกกุ้งก้ามกรามจากฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐาน จีเอพี (GAP) มาปล่อยเลี้ยง ซึ่งการซื้อลูกกุ้งอยู่ที่ความพอใจของผู้เลี้ยงว่า ต้องการซื้อจากฟาร์มไหน ซึ่งปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกันมากนัก เพราะทุกฟาร์มมีมาตรฐานเดียวกันที่เชื่อถือได้

การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของคุณอรอนงค์จะมีการเลี้ยง 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกเธอจะนำลูกกุ้งก้ามกรามมาอนุบาลเสียก่อน และขั้นตอนที่สองจึงจะนำกุ้งที่ผ่านการอนุบาลมาปล่อยเลี้ยงอีกบ่อ จนได้ขนาดไซซ์ที่จำหน่ายได้

“เราจะอนุบาลก่อน พอเสร็จแล้วค่อยย้ายบ่อ ขึ้นอยู่ที่ผู้เลี้ยงว่าจะปล่อยแน่นหรือว่าไม่แน่นมากนัก ปล่อยได้ตั้งแต่ 20,000-40,000 ตัว เลี้ยงในช่วงอนุบาลนี้ประมาณ 2 เดือน ถึง 2 เดือนครึ่ง ก็ค่อยย้ายไปเลี้ยงอีกที่หนึ่ง สมมุติให้เห็นภาพคือ เตรียมบ่อสำหรับอนุบาลไว้ 1 บ่อ บ่อสำหรับเลี้ยง 3 บ่อ ก็จะเลี้ยงได้เรื่อยๆ สลับกัน” คุณอรอนงค์ อธิบาย

การอนุบาลลูกกุ้งก้ามกราม คุณอรอนงค์ บอกว่า ทำด้วยวิธีนี้ถือว่าไม่เสียเวลา กุ้งก้ามกรามเจริญเติบโตขนาดไซซ์เท่ากันไม่มีปัญหาเรื่องแตกไซซ์ ทำให้เวลาที่จับจำหน่ายสามารถจับหมดบ่อได้เลย

ลูกกุ้งก้ามกรามที่นำมาอนุบาลจะให้กินอาหารที่มีโปรตีน 35 เปอร์เซ็นต์ 2 มื้อ ต่อวัน เช้าและเย็น จนได้อายุประมาณ 2 เดือนครึ่ง จึงย้ายไปเลี้ยงในบ่อสำหรับเลี้ยงอีกครั้งหนึ่ง ปล่อยเลี้ยงประมาณ 24,000 ตัว ต่อบ่อ 4 ไร่ อาหารที่ให้ในระยะนี้เป็นอาหารที่มีโปรตีน 35 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเดิม ใช้เวลาเลี้ยงอีก ประมาณ 2 เดือน กุ้งก้ามกรามจะมีขนาดไซซ์ใหญ่พร้อมจำหน่ายได้

การดูแลและป้องกันโรค คุณอรอนงค์ บอกว่า การเลี้ยงด้วยวิธีนี้ยังไม่พบปัญหามากนักสำหรับเธอ ส่วนการใช้เครื่องตีน้ำหากเลี้ยงแบบจำนวนไม่หนาแน่นมากนัก ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าปล่อยกุ้งก้ามกรามจำนวนมากจะเปิดใช้งานเครื่องตีน้ำ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น ครั้งละ 2 ชั่วโมง

“เรื่องโรคและสาเหตุการเกิดโรคไม่มี ถ้าเราเลี้ยงแบบนี้นะ เพราะว่าบ่อมันก็สะอาด เราจัดการดีทุกครั้ง อีกอย่างที่ต้องระวังคือ เรื่องอาหาร อย่าให้กุ้งกินเยอะเกิน เพราะถ้าอาหารมากเกิน มันจะกลายเป็นของเสียที่บ่อ เราควรให้พอเหมาะ” คุณอรอนงค์ กล่าว

กุ้งก้ามกราม ยังเป็นที่ต้องการของตลาด

คุณอรอนงค์ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้เปลี่ยนจากไร่อ้อยมาเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการอยู่ตลอดเวลา

“กุ้งนี่เป็นอะไรที่ดีมาก เพราะว่าจำหน่ายง่ายมาก มันเหมือนเรามีเงินสดอยู่ในบ่อตลอด อย่างสมมุติเราไม่เลี้ยงให้ตัวใหญ่ เราก็เอาลูกกุ้งที่อนุบาลมาจำหน่ายได้ ซึ่งราคาก็ไม่แย่นะ กิโลกรัมละ 200 กว่าบาท ซึ่งไซซ์นี้เราจำหน่ายให้กับคนที่ต้องการซื้อเอาไปเลี้ยงต่อ เพื่อเป็นกุ้งตัวใหญ่ บางคนเขาไม่ชอบเลี้ยงแบบตัวเล็กๆ ถึงได้บอกว่าเลี้ยงกุ้งนี่เหมือนเรามีเงินอยู่ในบ่อเราตลอด” คุณอรอนงค์ กล่าว

กุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงจนได้ไซซ์ขนาดประมาณ 10-12 ตัว ต่อกิโลกรัม เป็นเพศผู้ ราคาจำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 300-400 บาท ส่วนกุ้งก้ามกรามเพศเมีย ที่มีไข่ติดท้อง ราคาจำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 200-300 บาท

“ส่วนมากเราจะจำหน่ายที่ปากบ่อเลย ไม่ต้องไปส่งที่ไหน หรือบางทีเราก็ไปส่งแถวตลาดมหาชัย ราคาก็จะขึ้นไปกว่านี้อีกนิดหน่อย อีกอย่างคิดว่าการเลี้ยงกุ้งนี่ดีมาก เราได้เงินทุกเดือน เพราะเราสามารถจับสลับบ่อได้ ถ้าจำนวนบ่อเรามีเยอะ มันก็หมุนเวียนได้ตลอด ซึ่งอย่างไร่อ้อยนี่เราจำหน่ายได้แค่ปีละครั้ง มันนานกว่ากุ้งอีก” คุณอรอนงค์ กล่าวถึงข้อดีของการเลี้ยงกุ้ง

การเลี้ยงกุ้ง เป็นอาชีพหลักที่ดี หากเรียนรู้ และตั้งใจทำ

เมื่อเอ่ยถามคุณอรอนงค์ว่าตั้งแต่เลี้ยงกุ้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คิดว่ากุ้งยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคนที่มองหาเพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้หรือไม่

“ในด้านการทำเป็นอาชีพ กุ้งนี้ต้องบอกเลยว่าสามารถเลี้ยงเป็นอาชีพหลักได้นะ แต่ก่อนที่จะมาเลี้ยงอยากให้คนที่สนใจถามตัวเองก่อนว่า เขาเลี้ยงกันแบบนี้ เราสามารถทำได้ไหมถ้ามาเลี้ยงเอง คือถ้าเราอยากได้เงินแบบเห็นผล กุ้งนี้ก็น่าจะเป็นคำตอบ เพราะว่าก็ไม่ได้เลี้ยงยากอะไร ขอให้มีที่สำหรับเลี้ยงติดคลอง ติดแหล่งน้ำชลประทาน สถานที่เหมาะสม แหล่งน้ำสะดวก การเลี้ยงนี่ก็ถือว่ายั่งยืน”

“อย่างตัวเราเองนี่ จากวันนั้น เมื่อ ปี 41 อีกไม่กี่ปีก็จะ 20 ปีแล้วที่ทำมา ก็อยากแนะนำว่า ถ้าเราเรียนรู้ อยากทำให้ทำเลย อย่าไปรอเวลาเลย เราเริ่มเมื่อไหร่เราก็มีความหวังเมื่อนั้น สำหรับใครที่มีที่ดินไม่มาก เลี้ยงได้ 1-2 ไร่ ก็ขุดบ่อเท่านี้ก่อน ยังไม่ต้องทำมาก พอเลี้ยงสำเร็จเราก็ค่อยๆ ขยายไป เลี้ยงออกมายังไง ก็จำหน่ายได้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวเรื่องการตลาด” คุณอรอนงค์ กล่าวแนะนำ

จะเห็นได้ว่าการประกอบสัมมาอาชีพ หากศึกษาเรียนรู้ข้อมูลอย่างจริงจัง ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินที่มนุษย์อย่างเราๆ ฝันถึง เหมือนเช่น คุณอรอนงค์ ที่ยอมปรับเปลี่ยนความคิดจากทำไร่อ้อยที่ได้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง หันมาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่สร้างรายได้ให้กับเธอทุกเดือน โดยคิดเพียงแต่ว่าสิ่งที่เริ่มใหม่ต้องสดใสและงดงามเสมอหากไม่ยอมแพ้ และตั้งใจจริง

เรียบเรียงโดย DPSNews